"จุลพันธ์" ชี้หากผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน เหมือนการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาล

การเมือง
30 พ.ค. 63
19:11
382
Logo Thai PBS
"จุลพันธ์" ชี้หากผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน เหมือนการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาล
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย ชี้หากผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่มีรายละเอียดและเนื้อหาโครงการ มีแต่กรอบเงินนั้นไม่ต่างกับตีเช็คเปล่าให้รัฐบาล

วันนี้ (30 พ.ค.2563) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการวิปฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเงิน 4 ฉบับ รวมวงเงิน 1.98 ล้านล้านบาทว่า ครั้งนี้เป็นการใช้เงินกู้ และทรัพยากรของประเทศไทยครั้งมโหฬาร ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา 1.9 ล้านล้านบาท โดยภาพรวมแล้ว รู้สึกอึดอัดกับการที่จะต้องมาพิจารณาอนุมัติ หรือไม่อนุมัติร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับนี้ในสภาฯ ในแง่หนึ่งประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐจากปัญหาไวรัสโคโรนาก็เดือดร้อน ซึ่งเรียกร้องและรอการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ แต่ในอีกแง่หนึ่ง โครงสร้างของ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ กลับไม่มีความครอบคลุมเต็มไปด้วยช่องโหว่ สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต คอร์รัปชันมากมาย

ในประเด็นแรก ร่าง พ.ร.ก. 2 ฉบับ ซึ่งให้อำนาจกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดำเนินการ คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาคือทำไมต้องเป็น ธปท. วันนี้เอาเผือกร้อนโยนใส่เมืองของ ธปท.เป็นผู้ดำเนินการในการปล่อยซอฟต์โลนให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการบริหารจัดการเงิน เพื่อที่จะไปซื้อตราสารหนี้จากบริษัทใหญ่ ทั้งที่ภารกิจเหล่านี้เป็นภารกิจที่สามารถให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปดำเนินการได้ โดยมี ธปท.เป็นผู้กำกับอยู่เบื้องหลัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทางสังคมรับทราบดีว่าสุ่มเสี่ยงกับการจะทำให้ ธปท.เข้าไปเป็นคู่ความ เกิดความเสี่ยงที่ ธปท.จะขาดความเป็นกลางและความเป็นอิสระตามวัตถุประสงค์ของธนาคารกลางทั่วไป ซึ่งในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา รัฐบาลขออนุญาตให้ผู้ว่าการ ธปท.เข้ามาชี้แจง ซึ่งไม่ขัดข้องบางครั้งชี้แจงไปชมรัฐบาลไป จนกระทั่งเกิดความรู้สึกสงสัยถึงความเป็นอิสระของและความเป็นกลางของผู้ว่าการ ธปท.

ในส่วนของ พ.ร.ก.ในเรื่องการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู็เงิน 1 ล้านล้านบาท ยิ่งตัดสินใจยาก เพราะเหมือนกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มัดมือชกกับสภาผู้แทนราษฎร เอาประชาชนเป็นตัวประกันใส่กุญแจมือไว้ว่าเราต้องผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพราะจริงๆ แล้ว พ.ร.ก.ฉบับนี้มี 3 ส่าวน ส่วนแรก 45,000 ล้านบาท เป็นเรื่องของการเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการสาธารณสุข อีก 555,000 ล้านบาท เป็นเรื่องของการเยียวยา ซึ่งรู้ว่าประชาชนรออยู่ บุคลากรทางการแพทย์รออยู่ เราอยากจะช่วย แต่ปรากฏว่าร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ยัดไส้เอาเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นงานปกติ งานประจำของภาครัฐ เข้ามาอีก 400,000 ล้านบาท เรารู้กันดี แต่ประชาชนไม่ทราบ เวลาที่ลักษณะการลงทุนพวกนี้เข้าสู่สภาจะผ่านทาง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งพิจารณาวาระแรก 4 วัน 4 คืน ไปตั้งคณะกรรมาธิการนั่งดูทุกบรรทัดและตัวอักษรเป็นเวลา 3 เดือน กลับเข้าสู่สภา พิจารณาวาระ 3 วาระ 4 ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ เข้ามาไม่มีรายละเอียดอะไรให้พิจารณา ไม่มีเนื้อหาโครงการ มีแต่กรอบเงินแล้วจะให้อนุมัติ

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ ถ้าผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของ 400,000 ล้านบาท ที่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต่างอะไรกับเราตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลเลย อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ออก พ.ร.ก.เมื่อกรณีจำเป็นและฉุกเฉินเท่านั้น ถามว่าโครงการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ที่จะเตรียมทำฉุกเฉินและจำเป็นอย่างไร ต้องเสร็จภายใน 2 เดือน หรือจะก่อสร้างก่อนปีงบประมาณนี้สิ้นสุดหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะสุดท้ายจะขยายระยะเวลาจนกระทั่งไปถึงสิ้นปี 2564 ถ้าจะมีความจริงใจกับสภา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ควรต้องแยกมาเป็น 3 ฉบับ ฉบับ 1 เรื่องของสาธารณสุข ฉบับ 2 เรื่องของการเยียวยา และฉบับสุดท้าย เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะตีตกโครงสร้างพื้นฐานให้ดู เพราะว่าสามารถไปบรรจุในงบปกติได้ และงบประมาณปี 2564 กำลังจะเข้าอีก 1 เดือน ไม่มีความเสียหายเลย แต่สภาจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดถึงความคุ้มค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์

สถานการณ์โรคระบาด แม้ว่าจะดูเหมือนสามารถควบคุมได้ แต่แลกมาด้วยเลือด น้ำตา และชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเดือดร้อน และไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที หากย้อนไปเมื่อ 2 เดือนที่ได้อภิปรายในสภา ซึ่งได้บอกว่าตัวชี้วัดหนึ่งของรัฐบาลนี้ ในด้านเศรษฐกิจคืออัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนจากพิษเศรษฐกิจ วันนี้หนักกว่าเดิม ซึ่งรัฐบาลพยายามจะใช้โควิด-19 เป็นแพะรับบาป แต่ในข้อเท็จจริงเศรษฐกิจมันดิ่งมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทาร์โอชา เข้ามายึดอำนาจ เมื่อปี 2557 ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ แตะก็ล้ม วิกฤตซึ่งหนักหน่วงอยู่แล้ว อย่างเช่นโควิด-19 จึงหนักกว่าที่เป็น หลักฐานที่ชี้ชัดที่สุดคือตัวเลขเศรษฐกิจ ตัวเลขอัตราการเติบโตของจีดีพี โดยธนาคารโลกระบุว่าปัญหาโควิด-19 ที่กระทบทั่วโลกโดยเฉลี่ยแล้ว จีดีพีทั่วโลกจะกระทบคือหดตัวร้อยละ 3 ประเทศไทยนำโด่งที่ร้อยละ 6-9 เลวร้ายที่สุดคือร้อยละ 9

สำหรับการเยียวยาที่เกิดขึ้น ประชาชนทุกคนเดือดร้อน ไม่มีคนไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบและไม่เดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไป เงินกู้ก้อนนี้ทุกคนก็มีส่วนในการใช้ ประชาชนทุกคนมีส่วนเท่ากันหมด เพราะเราต้องจ่ายคืนในรูปแบบของภาษี แต่การเยียวยาครั้งนี้ รัฐบาลเอาสิทธิ์อะไรมาไปตัดสินว่าประชาชนคนนี้มีความเดือดร้อนคน คนนั้นควรได้เงินเยียวยาหรือไม่ควรได้ คนถึงตกหล่นเป็นหลายสิบล้านคน เอาสิทธิ์อะไรไปตัดชีวิตเขาออก ไปตัดเอาความช่วยเหลือออกจากเขา จนเขาไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ในสภาพเศรษฐกิจอย่างปัจจุบัน ความล้มเหลวในการเยียวยาครั้งนี้ คือ 1.ไม่ทั่วถึง 2. ล่าช้า 3.ยุ่งยาก และ 4.ไม่รัดกุม และไม่ต้องไปถามว่าจะนำเงินไปใช้อะไร เพราะเงินนี้ไม่ใช่เงินของรัฐบาล แต่เป็นเงินของภาษีของประชาชน เป็นเงินของรัฐ ไม่ได้ควักมาจากกระเป๋าสตางค์ส่วนตัว เข้าใจด้วยว่าหน้าที่่ในการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤตเช่นนี้เป็นหน้าที่รัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง