“สวนฝึกตน” ของคนเมือง ที่อยากกลับบ้านเกิด

สังคม
30 พ.ค. 63
22:11
791
Logo Thai PBS
“สวนฝึกตน” ของคนเมือง ที่อยากกลับบ้านเกิด
“ทำงานหนัก และจริงจังจนล้มป่วย รู้สึกเหมือนเป็น หนูถีบจักร ทำเท่าไหร่ก็ยังวนอยู่ที่เดิม อยากกลับบ้านมาก แต่ไม่มีเงิน , ไม่มีองค์ความรู้ , ไม่มีที่ดิน ฯลฯ” ถ้าคุณเป็นอีกคนที่มีเหตุผลคล้ายกัน และกำลังรู้สึกว่าชีวิตช่างไม่มีทางเลือกเสียเลย

“เริ่มต้น” อย่างไร

สายันห์ ภาชะรัตน์ หรือทิว วัย 35 ปี พนักงานประจำ ที่ตัดสินใจลาออกมาแล้วถึง 2 ครั้ง การใช้ชีวิตในมหานครที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความเป็นเลิศ และดิ้นรนแสวงหาเงินเพื่อความอยู่รอด เท่ากับเส้นทางของความจำเป็น และจำนนในชีวิตของเขา

 

ผมคิดว่า ไม่มีเงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ ความกลัวว่าจะไม่มีเงิน

สายันห์ เล่าต่อว่า เขาเองก็เริ่มฉุกคิดเหมือนใครหลายคนว่า เงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต แต่ไม่รู้จะ “เริ่มต้น” อย่างไร เขาเพียรพยายามหาที่ดินในกรุงเทพฯ เพราะอยากจะฝึกทำเกษตร แต่มันไม่ง่ายนัก เมื่อทุกตารางนิ้วที่มีมูลค่า ใครกันจะอยากให้ใช้ฟรี ความฝันช่างห่างไกล เพราะความรู้เต็มหัวไปหมด แต่ไม่รู้จะฝึกฝนตรงไหน

หุ้นส่วนการเรียนรู้

ทางมืดมนกลับพลันสว่างอีกครั้ง เมื่อสายันห์พบกับผู้หญิงคนเมือง ชื่อ เบญจพร เตชะปรีชาวงศ์ คนเมืองที่มีที่ดิน แต่อยากได้ความรู้ ความต่างที่ลงตัวทำให้ที่ดิน 1.5 ไร่ ใน จ.นนทบุรี กลายมาเป็น “สวนฝึกตน” ให้คนเมืองทุกอาชีพที่มีแนวคิดเดียวกันมารวมตัวกัน เพื่อฝึกฝนตัวเองให้มีความพร้อมก่อนจะกลับบ้านเกิด ความพยายามพิสูจน์คำสอนของครูกลายเป็นจริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นพิสูจน์แล้วว่า

 สายันห์ ไม่มีที่ดิน ไม่มีเงิน

เบญจพร ไม่มีองค์ความรู้

แต่ความขาดแคลนของทั้งคู่ ไม่ได้เป็นปัญหาการเดินตามความฝัน พวกเขา “แลกเปลี่ยนแบ่งปันสิ่งที่มี ให้กับเพื่อนที่ขาดแคลน” พื้นที่เล็กๆ 1.5 ไร่ในมหานคร กลายเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันที่แทรกซึมอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขัน

พื้นที่ทดลอง ห้องเรียนแบ่งปัน

ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ คนเมืองทุกแวดวงอาชีพ ที่มีความฝันจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในชีวิต จะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกฝนตัวเอง #ไม่มีครู #ไม่มีเจ้านาย #ไม่ลูกน้อง เพราะที่นี่มีแต่เพื่อนที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีแต่เพื่อน ที่มาช่วยกันทลายข้อจำกัดที่ผูกมัดคนเมือง

ลองนึกภาพเล่นๆ ถ้าคนเมืองที่มีที่ดิน ทำแบบเบญจพร ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมืองจะถูกใช้ประโยชน์ได้มากแค่ไหน

 

ภาพจำของ “มหานคร” อาจจะเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของวิกฤต COVID-19 แล้วถ้าเราลุกขึ้นมาช่วยทลายข้อจัดที่มีได้จริง ๆ เราอาจเห็นแนวคิดการพึ่งพา และการแบ่งปันกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศมากขึ้น เมื่อนั้นภาพของความมั่นคงทางอาหาร จะค่อยเกิดขึ้น และพร้อมที่จะรับมือกับทุกวิกฤตในอนาคต

 

แล้วคุณละพร้อมจะเป็นอีกหนึ่งคนเมือง ที่กล้าจะปลดปล่อยความคิดที่ซ่อนอยู่ในตัวเองแล้วหรือยัง ลองฟังเสียงที่ดังอยู่ในใจชัดอีกครั้งสิคะ ว่าอะไรกันแน่ คือ คุณค่าในชีวิตของเรา

ติดตามผ่านการเล่าเรื่องอีกช่องทาง

https://www.facebook.com/232231380141563/posts/3185937894770882/

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล : เล่าเรื่อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง