"สุทิน" ชี้เกลี่ยงบฯปี 63 -64 ลดวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน

การเมือง
31 พ.ค. 63
14:09
416
Logo Thai PBS
 "สุทิน" ชี้เกลี่ยงบฯปี 63 -64 ลดวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน
"สุทิน" อภิปรายย้ำแหล่งที่มาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทยังไม่ชัดเจน เชื่อเกลี่ยงบประมาณก่อนที่จะกู้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วไม่ต้องกู้ถึง 1 ล้านล้านบาท แนะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เอสเอ็มอีเพิ่มเติมจากการให้เงิน

วันนี้ (31 พ.ค.2563) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อภิปราย ระบุ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 2 ฉบับซึ่งเป้นการกู้เงินโดยอ้อมและสร้างภาระ 9 แสนล้านล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินกู้ยังไม่ทราบแหล่งที่มาเพราะหากกู้จากต่างประเทศจะกระทบค่าเงิน ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหากทราบที่มาของแหล่งเงินกู้ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือและจะสามารถกู้เงินได้หรือไม่เนื่องจากหลายประเทศประสบภาวะเดือดร้อนจาก COVID-19 รวมถึงประเทศต่างๆจะมีแนวโน้มชาตินิยมมากขึ้นซึ่งอาจช่วยประเทศตัวเองก่อนที่จะให้ต่างชาติกู้

หากกู้ภายในประเทศก็ยังคงมีคำถาม เรื่องของดอกเบี้ยที่จะให้กับเอกชนและพันธบัตร "เราไม่ทิ้งกัน" ที่ให้ดอกเบี้ยสูงมากกว่า 3 เท่าของตลาดซึ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นและจะเป็นภาระต่อรัฐบาลในอนาคต ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นระบาดกว่า 3 เดือนแล้ว ได้กระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจที่มีคนตกงานจำนวนมาก และด้านสังคมที่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีสภาพสังคมก็แย่

"ท่านกำลังจะใช้ COVID-19 เป็นบัตรแข็งผ่านทุกเรื่อง ในเวลานี้ต้องชมอย่างมีสติ ตำหนิอย่างมีเหตุผล ผมก็ขอชมนายกฯท่านว่า ท่านทำเต็มที่ตัวเลขผู้ป่วยลด อย่าลืมแนวรบด้านสุขภาพเท่านั้น อีก 2 ด้านคือด้านเศรษฐกิจและสังคมยังคงมองอยู่"

ขณะที่การเตรียมการที่ผ่านมามีปัญหาหลายเรื่องทั้ง ช่วงแรกบอกว่าเป็นเพียงโรคเล็กน้อย หน้ากากอนามัยขาดแคลน หากมีการแพร่ระบาดที่ 2 อาจยากลำบากได้ ขณะที่ประเทศลาวและเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา บรูไน ที่แก้ไขปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ดี แต่ไม่มีการกู้เงิน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านี้แก้ไขได้ส่วนหนึ่งคือ สภาพอากาศที่ร้อนทำให้การแพร่ระบาดแตกต่างจากประเทศยุโรปที่ระบาดรุนแรง ขณะที่หากมีการระบาดรอบ 2 ในช่วงฤดูหนาวอาจยากต่อการรับมือ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ขาดแคลน นโยบายของแต่ละกระทรวงที่ไม่เป็นเอกภาพ ขณะที่การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนควรที่จะยกเลิก

นายสุทินยังกล่าวว่า มาตรการระยะสั้นกรณีการช่วยเหลือเยียวยายังมีปัญหาคือ ยังไม่ครอบคลุม และไม่ทันเวลาผ่านมา 3 เดือนบางคนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือซึ่งยังทำได้ไม่ดีพอ ขณะที่แผนการฟื้นฟูในระยะกลางและระยาวยังไม่ชัดเจน ขณะที่การกู้เงินจนหนี้สาธารณะต่อปีในปี 64 จะอยู่ที่ร้อยละ 57 ขณะที่จีดีพีของปี 64 ยังไม่ทราบซึ่งหากนำมาคำนวณเงินกู้ตัวเลขหนี้อาจสูงกว่าร้อยละ 60

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินดังกล่าวมีความจำเป็น แต่ควรที่จะเกลี่ยงบประมาณปี 63 ก่อนหรือไม่ หรือ นำงบกลางมาช่วยเหลือเยียวยาก่อนที่จะกู้เงิน ซึ่งขณะนี้เป็นการกู้เงินก่อนที่จะเกลี่ยซึ่งหากเกลี่ยเงินก่อนจะได้ราวร้อยละ 15 ก็จะสามารถช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว

"จะกู้แต่ต้องดูเงินในประเป๋าตัวเองก่อน เช่นงบปกติ อาจไม่จำเป็นต้องกู้ 1 ล้านล้านบาท หรือ อาจกู้ได้ลดลง ประเทศไม่ต้องรับภาระ จำเป็นต้องกู้แต่ต้องใช้เงินเก่าเกลี่ยงบ 63 ก่อน และสมควรกู้และกู้เท่าไหร่ ต้องมีหลักประกันว่ากู้มาแล้วจะฟื้นจริง หรือจำเป็นต้องกู้เพื่อเยียวยาเพียง 6 แสนล้านบาท ขณะที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจใช้ช่องทางงบประมาณปกติเช่นงบประมาณประจำปี 63 หรือ งบประมาณประจำปี 64 "

นายสุทิน ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี วิธีการเช่นการพักหนี้ และให้เงินกู้ ซึ่งมีกลุ่มผู้ประกอบการที่เดือดร้อนหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนหนักจะต้องแยกกลุ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน โดยมีปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ และความต้องการที่แท้จริงคือ เนื่องจากยังมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำอย่างสูง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เสี่ยงต่อทุนต่างชาติและเทคโนโลยีต้องบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดในประเทศ 

"ควรดำเนินมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี ทั้งการตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หลังพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หากผ่านจะมีองค์กรหรือสภาฯของเขาในการสร้างความแข็งแกร่งจากนั้นจึงจะให้เงินช่วยเหลือเงินไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียวต้องเสริมแรงและสร้างความเข้มแข็งและป้องกันเขาด้วย"

นายสุทินยังกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการฟื้นฟู เพียงแค่ต้องการเพียงหมุนเงินอย่างรวดเร็วซึ่งต้องการให้หมุนและเกิดการทวีคูณเศรษฐกิจ และหากไม่หมุนการใช้จ่ายก็จะกลายเป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเข้ามาบริหารหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ30 และหากเศรษฐกิจไม่หมุนจีดีพีก็จะลดลงหนี้สาธารณะจะสูงขึ้นและอาจพุ่งถึงร้อยละ 70 "

นายสุทินยังกล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะไม่ได้ผล เพราะปัจจัยเปลี่ยน 1.เศรษฐกิจจะเป็นแบบชาตินิยม ธนาคารโลกไม่ให้กู้เงิน ปัจจัยที่ 2.รัฐบาลยังปฏิรูปประเทศไม่ได้ เช่นกรณีการจ่ายเงินเยียวยา เงินประกันสังคมล่าช้า การลงทะเบียนล่าช้า เพราะระบบราชการไม่มีการปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ การตรา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน มีปัญหาคือ ระบบการตรวจสอบ แม้ว่าจะหลักการดี วิธีการชอบ แต่ก็ควรมีการตรวจสอบเนื่องจากมีเพียงการให้รายงาน ครม. ทุก 3 เดือน และไม่มี กมธ.วิสามัญในการตรวจสอบ 

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง