"สมคิด" ย้ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำเป็น

การเมือง
31 พ.ค. 63
15:23
480
Logo Thai PBS
"สมคิด" ย้ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำเป็น
"สมคิด" รองนายกฯ ย้ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำเป็น เน้นจัดสรรงบประมาณภาคการเกษตรเตรียมแผนรองรับจนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวฟื้นตัวในปีหน้า

วันนี้ (31 พ.ค.2563) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับมีความจำเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งมีการหารือในช่วงที่ไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 2 ในระยะสั้นต้องเอาให้อยู่ ขณะนี้ผ่านไปแล้วแต่มีสัญญาณบางอย่างออกมาจึงต้องเตรียมการล่วงหน้า โดยในระยะแรกมีการประเมินว่า เงินเยียวยาเพียงพอหรือไม่ โดยปรับจากการงบประมาณแต่ไม่เพียงพอจึงต้องเตรียมการกู้ยืม ขั้นแรกเยียวยาในช่วง 3 เดือน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น

ขณะที่สัญญาณจากตลาดตราสารหนี้ บางกองทุนเริ่มปิดกองทุน ซึ่งที่ผ่านมามีบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว จึงเดินหน้าเชิงรุกเพื่อป้องกันก่อน จึงมี พ.ร.ก.ตั้งกองทุนดูแลตราสารหนี้ โดยอย่ามองว่าเป็นการอุ้มเจ้าสัว จากนั้นจึงมีมาตรการขยายประกันเงินฝากวงเงิน 5 ล้านบาท ขณะที่กรณีของเอสเอ็มอีทุกฝ่ายเป็นห่วงแต่ด้วยข้อจำกัดของระบบธนาคาร กระทรวงการคลังจึงเตรียมออกกองทุนซึ่งการบริหารจัดการต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ยังกล่าวว่า ระยะเวลา 3 เดือนการเยียวยาเงินจะหมด หรืออยู่ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. จากนั้นเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจะมาจากไหน เราต้องการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในยามนี้การส่งออกย่ำแย่เห็นได้ชัดจาก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุน และยุโรป ที่ผ่านมาดัชนีเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างดีเพราะหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 40 แต่ที่ผ่านมาเจอมรสุมหลายลูก ทั้งสงครามการค้า การเลื่อนออกงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการแก้ไขปัญหา COVID-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำสิบถือเป็นผลงานของรัฐบาล ซึ่งต้องเตรียมพร้อมต่อในอนาคต การออก พ.ร.ก.ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ต้องการเข้ามาเป็นคนกลาง แต่ก็เสียสละต้องเข้ามาเพื่อดูแลตลาดเงินตลาดทุน 

นายสมคิดยังระบุว่า ทางออกคือการสร้างฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทย และการป้องกันไม่ใก้การเมืองแทรกแซงให้สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณมากลั่นกรอง และรับฟังความเห็นจากภายนอกเช่น สภาฯ แต่ด้วยวิธีการใดไม่ต้องกังวล ขณะที่การร่วมมือกับรัฐบาลและสภาฯเป็นสิ่งสำคัญมาก งบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 400,000 ล้านบาท ต้องใช้อย่างมีคุณภาพ และหลังจากนั้น เมื่อสถานการณ์อย่างน้อยปลายปีหน้า และด้วยการที่ประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่จึงต้องเน้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและต้องจัดสรรงบประมาณลงไปจนกว่าภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะกลับมา ดังนั้นงบประมาณรายจ่ายปี 2564 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะโครงการที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างงานสร้างรายได้ ทุกกระทรวงต้องปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณมากที่สุด

"ต้องประคองไปให้ถึงปีหน้า ให้คนไทยอยู่ได้ ดึงเอกชนมาช่วยไม่ใช่ดึงมากิน ครึ่งปีหน้าจะเจอต้องเตรียมโครงการไว้ก่อน ขณะที่ EEC ถือเป็นโอกาส เพราะประเทศอื่น ๆไม่มีจุดแข็งเหล่านี้เลยทั้ง เวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์หาก COVID-19 หายจะเป็นโอกาสดีของเรา เป็นโอกาสที่จะสร้างคนของเรา และจากเหตุการณ์ครั้งนี้เรามีข้อมูลมหาศาล ทุกกระทรวงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต้องมีบิ๊กดาต้า เราต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้คนไทยอยู่ถึงปีหน้าให้ได้ เหตุการณ์ 3 เดือนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น การจะตรวจสอบความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ดีที่สุดชาวบ้านจะได้อุ่นใจเพราะเงินนี้เป็นก้อนที่ใหญ่มากเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงที่สุด ผมไม่ได้แก้ตัวแทนรัฐบาล แก้ตัวแทนนายกฯ ชาวบ้านอยากเห็นสภาฯสามัคคี อยากเห็นพรรคการเมืองไม่งั้นจะผ่าน COVID-19 ไปถึงปีหน้าได้อย่างไร" นายสมคิดทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง