วุฒิสภา พิจารณา พ.ร.ก. 4 ฉบับ แก้ปัญหาโควิด-19

การเมือง
1 มิ.ย. 63
13:38
272
Logo Thai PBS
 วุฒิสภา พิจารณา พ.ร.ก. 4 ฉบับ แก้ปัญหาโควิด-19
หลังสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบ ก็ส่งกฎหมายให้วุฒิสภา พิจารณาตามกระบวนการต่อ ซึ่งวุฒิสภากำหนดพิจารณา พ.ร.ก.4 ฉบับ จำนวน 2 วัน โดยวันแรก..วันนี้จะเปิดประชุมและอภิปรายกัน 9 ชั่วโมง 30 นาที

วันนี้ (1 มิ.ย.2563) หลังสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบ ก็ส่ง พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงิน พ.ร.ก.ซอฟต์โลน พ.ร.ก.ซื้อตราสารหนี้ และ พ.ร.ก.ประชุมออน์ไลน์ ให้วุฒิสภา พิจารณาให้ความเห็นตามกระบวนการพิจารณากฎหมาย ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดไว้ คือเห็นชอบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้เทียบเท่า พ.ร.ก.

โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า วุฒิสภาฯจะใช้เวลาอภิปรายและลงมติให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน และจะต้องลงมติแล้วเสร็จก่อน 20.00 น. โดยเฉพาะ พ.ร.ก.3 ฉบับแรก ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะใช้เวลาอภิปรายประมาณ 9 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งคาดว่าจะลงมติได้ ภายในเที่ยงวันพรุ่งนี้

แม้ว่า ส.ว.ส่วนหนึ่งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบทบาทหน้าที่ด้วยหมวก 2 ใบ แต่นายคำนูณ สิทธิสมาน เชื่อมั่นว่าทุกคนจะมาประชุมอย่างพร้อมเพรียง และการอภิปรายก็เป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ไม่ได้สนับสนุนเพียงอย่างเดียว น่าจะมีข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อรัฐบาลได้

และด้วยเหตุผลความจำเป็น-เร่งด่วน ก็เป็นที่คาดการณ์ว่า วุฒิสภาจะลงมติเห็นชอบไม่ต่างกับสภาฯ แต่การผลักดันตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับนั้น ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากวุฒิสภาวุมิสภา

การอภิปราย พ.ร.ก. ได้เริ่มอภิปรายตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดย นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงความจำเป็น-เร่งด่วนของกฎหมาย และเป็นที่สังเกตของทุกฝ่าย วันนี้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าร่วมประชุมในฐานะ ส.ว.ด้วย 

ทั้งนี้ตลอดการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ส่วนใหญ่คล้ายกับที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งข้อสังเกต ถึงผลการบรรลุวัตถุประสงค์ แผนงานที่สุ่มเสี่ยงการทุจริต และเสนอให้ประชาชนมีส่วนส่วนตรวจสอบ

โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว คนไทยร้อยละ 71 รายได้ลดลง มีโอกาสทำให้หนี้สาธารณะเกินเพดานร้อยละ 60 ต่อ GDP จึงต้องเร่งรัดปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างจริงจัง

ขณะที่นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายถึงงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ต้องถึงมือประชาชน เน้นการมีส่วนร่วม เตรียมความพร้อมระบบเพื่อรองรับวิกฤตในอนาคต

ส่วนนายอำพน จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เอื้อให้นำเสนอโครงการเก่ามาดำเนินการใหม่ พร้อมเสนอจัดตั้งคณะกรรมการอิสระติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้ จากผู้ที่น่าเชื่อถือ

และแม้จะคาดการณ์กันว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนหลักการ แต่จากประเด็นก็เห็นได้ว่ามีข้อเสนอหลายอย่างที่ชี้ถึงจุดบกพร่องของพระราชกำหนด ขณะที่การอภิปรายก็ยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง