"ก้าวไกล" ยอมรับหลักการร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ63

การเมือง
2 มิ.ย. 63
11:18
162
Logo Thai PBS
"ก้าวไกล" ยอมรับหลักการร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ63
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวยอมรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ปี 2563 แต่ตั้งข้อสังเกต "โอนช้า-โอนน้อย-โอนหลอก" เผยสภาฯเตรียมตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา 6 วัน ก่อนเข้าวาระ 2-3 วันที่ 11 มิ.ย.นี้

วันนี้ ( 2 มิ.ย. 2563) นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปพรรค ส.ส.ก้าวไกล เปิดเผยว่าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณร่ายปี 2563 สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาในวาระรับหลักการในวันที่ 4 มิถุนายนนี้

พรรคก้าวไกลยอมรับหลักการและสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ63 เพราะเป็นความจำเป็นของประเทศชาติ ให้เดินหน้าและเตรียมงบฯสำหรับการรับมือหากเกิดการระบาดระลอก 2

แต่นายพิจารณ์กล่าวความเห็นส่วนตัวชี้ว่าร่างฉบับนี้เป็นร่างที่ “โอนช้า-โอนน้อย-โอนหลอก” โดยตั้งข้อสังเกตุต่อร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 ว่ามองได้สองด้านมุมหนึ่งเป็นการโอนมาเป็นงบประมาณกลางที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีดำเนินการใช้จ่ายโดยเฉพาะ สืบเนื่องให้อาจเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ในแง่ประสิทธิภาพและความโปร่งใสของการดำเนินการ

พร้อมอธิบายว่า “โอนช้า” เนื่องจากพรรคก้าวไกลเคยเสนอรัฐบาลให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อนที่จะพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับแต่รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการ ส่วนข้อสังเกต”โอนน้อย” ชี้ว่าการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ก็เป็นไปอย่างล่าช้าทำให้หน่วยงานไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ตามเป้าหมาย และเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรดึงงบฯกลางมาให้ได้มากที่สุดในการจัดการ เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายกลายเป็นเบี้ยหัวแตก ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบแล้วพบว่าหลายหน่วยงานควรโอนงบได้มากกว่านี้ ทั้งนี้กระทรวงการคลังยังโอนงบที่เป็นงบจ่ายเงินกู้ 35,000 ล้านบาทอีก เท่ากับว่าจะเหลืองบใช้จริงๆราว 53,000 ล้านบาท

ขณะที่ข้อสังเกต “โอนหลอก” นายพิจารณ์อธิบายว่า งบผูกพันธ์ที่ถือว่าเป็นงบผ่อนจ่ายตั้งแต่ปี 2563-2566 โครงการไหนไม่จำเป็นควรที่จะตัดทิ้งทั้งโครงการเพื่อไม่ให้เป็นภาระ จึงท้วงติงว่ารัฐบาลไม่กล้าตัด แต่ดำเนินการปรับลดจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 15 ซึ่งถือว่าเป็นภาระงบประมาณรายปี และสภาฯไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโครงการใดเป็นโครงการก่อหนี้ผูกพันธ์บ้าง เนื่องจากยังไม่ได้รายละเอียดจากหน่วยงาน

นอกจากนี้ยังแสดงความห่วงกังวลกรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ว่าอาจไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย เป็นเหตุให้งบประมาณของกระทรวงการคลังจะมีรายได้ลดลงทุกปี แนะให้ใช้เงินแบบรัดกุม โครงการไหนไม่จำเป็นควรยกเลิก ให้เน้นใช้ประโยชน์ด้านการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ เพราะว่าไม่เช่นนั้นสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องกู้เพิ่ม ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม

ทั้งนี้สภาฯจะพิจารณาวาระรับหลักการเพียงวันเดียวในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ จากนั้นสภาฯจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 วงเงิน 88,452,597,900 บาท จำนวน 43 คน กรอบพิจารณา 6 วันเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายนนี้ โดยสัดส่วนคณะกรรมาธิการประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี 10 คน ส.ส.รัฐบาลจำนวน 18 คน และ ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวน 15 คนที่มีสัดส่วนเพื่อไทย 9 คน ก้าวไกล 4 คน เสรีรวมไทยและประชาชาติอีกพรรคละ 1 คน และจะนำเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2-3 ในวันที่ 11 มิถุนายน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง