อปท.โอด ไร้งบฯ ดูแลแหล่งน้ำขนาดเล็ก

สังคม
4 มิ.ย. 63
17:42
386
Logo Thai PBS
อปท.โอด ไร้งบฯ ดูแลแหล่งน้ำขนาดเล็ก
สภาวะสุญญากาศแหล่งน้ำขนาดเล็กที่โอนถ่ายให้ อปท. ไม่มีงบฯ ดูแลปล่อยร้างใช้ ประโยชน์ไม่ได้ เพราะมีงบฯ ไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซม ตั้งแต่มีการกระจายอำนาจเมื่อ 15 ปีแล้ว

ภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอรัฐเร่งแก้ปัญหาการถ่ายโอนแหล่งน้ำสู่ท้องถิ่นตามระบบกระจายอำนาจเมื่อ 15 ปีก่อน เพราะไม่มีงบประมาณดูแลปรับปรุงรักษา ต้องอาศัยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และงบประมาณที่สูงเกินกำลังท้องถิ่นทำได้

วันนี้ (4 พ.ค.2563) นายสำเริง เวทวงค์ ประธานประชาคม หมู่ 11 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เปิดเผย ปีนี้ภัยแล้งกระทบเกษตรกรที่มีความต้องการใช้น้ำสูง แต่ด้วยในพื้นที่มีแหล่งกักเก็บไม่มาก จึงต้องใช้น้ำอย่างจำกัด ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาปรับแก้ให้ช่องโหว่แหล่งน้ำขนาดเล็ก ให้มีการซ่อมแซม

แต่ด้วยข้อจำกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีงบฯ ไม่เพียงพอซ่อมแซมบำรุงรักษา เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง เช่นฝ่ายคลองห้วยยาง ต.บางบุตร ที่ปัจจุบันกรมชลประทาน ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแล ตั้งแต่ปี 2538 ใช้มาประมาณ 4-5 ปี ก็ทรุดโทรม น้ำรั่วใต้ฝาย และเกิดการชำรุดแตกหักใช้ไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นการเสียโอกาสการใช้น้ำในพื้นที่ ทั้งที่เป็นฝายเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในหมู่ 11 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

นายจตุรงค์ วงค์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร กล่าวว่า แต่ละปีงบประมาณไม่มาก เช่นงบประมาณเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน มีเพียง 15-20 ล้านต่อปี และต้องดูแลหมู่บ้านในพื้นที่ 12 หมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำ ฝ่ายชะลอน้ำ อื่นๆ ที่หน่วยงานรัฐหลายแห่ง ที่ได้ถ่ายโอนมาในพื้นที่มีประมาณ 17 แห่ง มีชำรุดหลายแห่ง โดยเฉลี่ยหากมีการซ่อมแซม ต้องใช้งบฯ มากว่า 1 ล้านบาท และต้องอาศัยวิศวกรที่มีความชำนาญ

บางส่วนเกินกำลังที่จะกระจายงบประมาณไปซ่อมแซมได้ จึงเลือกนำงบไปใช้ในส่วนที่จำเป็นก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านเบี้ยยังชีพ ประปา หรือถนนต่างๆ เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้วแหล่งน้ำ ฝายเก็บน้ำ ที่ถูกถ่ายโอน ตั้งแต่ 3 แสน ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร มักจะถูกถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่น แต่ข้อจำกัดของท้องถิ่นและงบประมาณที่จำกัด จะซ่อมแซมได้เพียงแหล่งกักเก็บน้ำเกิน 2 แสนลูกบาศก์เมตร

จึงมีข้อเสนอถึงภาครัฐปรับปรุงพิจารณาช่องว่าง ปรับแก้กฎหมายที่เป็นสุญญากาศบางส่วนให้สอดคล้อง และมีศักยภาพซ่อมแซมปรับปรุง ให้เอากลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ จะทำให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจไม่ต้องสร้างแห่งน้ำใหม่

ด้านนักวิชาการเปิดเผย ปัจจุบันมีการถ่ายโอนแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ มากถึง 17,000 โครงการ และยังไม่มีช้อมูลชัดเจนว่า จุดไหนชำรุดและใช้ประโยชน์ได้อยู่ ต้องแต่ 15 ปีที่แล้วที่มีกฎหมายกระจายอำนาจ ขณะนี้ สทนช. เร่งให้กำหนดกระบวนการกลั่นกรองเพื่อแก้ไขต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง