สบส.ยังไม่สรุปปมอัลตราซาวด์ 4D แต่แท้งลูก

สังคม
9 มิ.ย. 63
15:22
820
Logo Thai PBS
สบส.ยังไม่สรุปปมอัลตราซาวด์ 4D แต่แท้งลูก
สบส.เรียกโรงพยาบาลเอกชน ชี้แจงกรณีการแท้งบุตรในโรงพยาบาลเอกชน หลังครอบครัวยังคาใจปมภรรยาไปทำอัลตราซาวด์ 4D แต่อีก 2 วันกลับแท้งและเด็กเสียชีวิต โดยยังไม่สรุปสาเหตุการตายได้ เตรียมขอความชัดเจนจากชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์

กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก กิตติภพ แซ่ตั้ง โพสต์เล่าเรื่องราวที่ต้องสูญเสียลูก ภายหลังจากที่พาภรรยาไปอัลตราซาวด์ 4D ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และคาใจว่าสาเหตุการแท้งบุตร โดยต้องการโรงพยาบาลชี้แจง วันนี้ (9 มิ.ย.2563) นายกิตติภพ เเซ่ตั้ง โพสต์ข้อความว่า หลังจากทางโรงพยาบาลชี้เเจงครอบครัวผมมา 6 ชั่วโมงเต็ม คนเป็นพ่อเเม่ ที่ต้องสูญเสียลูก คำตอบที่ได้มาคือ #ยังหาสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดไม่ได้ #กดท้องเมียผมยุบจนร้องเจ็บขนาดนั้น

ทีมเเพทย์ชี้เเจงว่าการกดท้องเเรงไม่ส่งผลต่อเด็กให้คลอดก่อนกำหนด ถ้าความยุติธรรมผมหาจากทางโรงพยาบาลไม่ได้ผมจะไปพึ่งสื่อ ให้ช่วยผมกลับมาหาความยุติธรรมเอง#น้องเตชินท์เทวดาตัวน้อยของพ่อ

ไม่สรุปสาเหตุแท้งบุตรหลังอัลตราซาวด์ 4D

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงกรณีการแท้งบุตรในโรงพยาบาลเอกชน ย่านศรีนครินทร์ ว่า ทางสบส.ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมาย สบส.ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวทันที โดยได้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว พร้อมเชิญผู้เกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลเอกชนมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่สบส.เพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย 

อ่านข่าวเพิ่ม คาใจแม่ท้อง 6 เดือนทำ "อัลตราซาวด์ 4D" สุดท้ายเสียลูก

ยังไม่สรุปสาเหตุการแท้ง-เด็กตาย

นพ.ธเรศ กล่าวว่า การชี้แจงโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาล พบว่า ผู้ป่วยเข้ารับการฝากครรภ์ตามปกติของโรงพยาบาล แต่มีการทำการตรวจอัลตราซาวด์ 4D เพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ รวมถึงดูถึงอัตราการเต้นของหัวใจด้วย ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัย แต่เมื่อผ่านไป 2 วัน คนไข้กลับมาด้วยอาการปวดท้อง

ไม่สามารถยับยั้งการคลอดได้ เป็นเหตุให้เกิดการแท้งเมื่ออายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ทารกน้ำหนักตัว 1,140 กรัม ร่างกายไม่แข็งแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ก่อนจะเสียชีวิต แต่ยังไม่สมารถระบุถึงสาเหตุการแท้งได้

ทั้งนี้ สบส.จะต้องสอบถามราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภา เพราะเป็นเรื่องเฉพาะทาง

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า หากผลการตรวจสอบพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตของทารกเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของผู้ให้บริการ ก็จะมีการเอาผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับตัวของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลในฐานปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งจะมีการส่งผู้ข้อมูลให้สภาวิชาชีพดำเนินการในด้านจริยธรรมกับผู้ประกอบวิชาชีพต่อไป 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง