“ตั้งครรภ์-เสพยา” บาดแผลจากแม่สู่ทารกแรกเกิด

สังคม
10 มิ.ย. 63
20:28
6,553
Logo Thai PBS
“ตั้งครรภ์-เสพยา” บาดแผลจากแม่สู่ทารกแรกเกิด
บาดแผลในสังคมมักมาจากจุดเริ่มเล็กๆ ที่เราแทบจะมองไม่เห็น และไม่มีใครใส่ใจ หลายคนแทบไม่เคยรู้เลยว่า ทารกที่คลอดในโรงพยาบาลและพิการ สาเหตุมาจากแม่ที่ตั้งครรภ์และใช้ยาเสพติด ขณะที่วัยรุ่นไม่หยุดเสพยา แม้รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์

แม่และเด็กมั่วสุมยาเสพติด

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง บุกเข้าไปในบ้านเช่าหลังหนึ่ง ใน ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบกลุ่มวัยรุ่น 4 คน อายุระหว่าง 24-26 ปี กำลังมั่วสุมเสพยาเสพติด

ในจำนวนนั้น พบหญิงตั้งครรภ์ 8 เดือน และแม่พร้อมลูกน้อยวัยเพียง 5 เดือน อีก 2 คน กับเยาวชนชายอีก 1 คน ขณะมั่วสุมเสพยาบ้า และยาไอซ์ ซึ่งสามีของทั้งสองเพิ่งคิดคุกในคดียาเสพติด ทั้งหมดถูกควบคุมตัวส่ง สภ.เทพา เพื่อดำเนินคดี

น.ส.คอทรีหม๊ะ หะยีอารุณ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฯ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งการที่หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงแม่ลูกอ่อนมาเสพยาเสพติด ถือเป็นปัญหาทางสังคม ที่ไม่ค่อยพบมากนัก

ที่ จ.สงขลา ก็ไม่ค่อยพบกรณีเช่นนี้ ซึ่งจะต้องดูว่าถูกดำเนินคดีในข้อหาใด หรือไม่ หากเป็นผู้เสพ ก็มีแนวทางในการดูแลช่วยเหลือ ตามกรอบที่จะทำได้ แต่ถ้าหากถูกดำเนินคดีกรณีอื่นๆ ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ

ทารกแรกเกิดรับสารพิษจากแม่

ในหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด โรงพยาบาลปทุมธานี ทารกแรกเกิดคนหนึ่งอยู่ในภาวะปอดติดเชื้อรุนแรง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เสี่ยงเสียชีวิต และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งช่วยเหลือ นี่เป็นผลกระทบจากการที่แม่ของเด็กใช้สารเสพติด ตลอดการตั้งครรภ์

อรทัย ศิลป์ประกอบ หัวหน้าหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด ระบุว่า หอวิกฤตไอซียูของเด็กทารก มีเพียง 14 เตียง บางครั้งต้องรับผู้ป่วยที่เป็นทารกแรกเกิด ซึ่งมีอาการความผิดปกติจากแม่ที่ใช้สารเสพติดสูงถึงวันละ 4-5 เตียง ทำให้มีค่ารักษาพยาบาล จนถึงออกจากโรงพยาบาลเพิ่มสูงถึง 200,000 บาทต่อคน ทั้งที่ปัญหาเหล่านี้ ป้องกันได้ตั้งแต่ต้น จากการไม่ใช่สารเสพติดในระหว่างตั้งครรภ์

ต้นทุนการรักษา 200,000-250,000 บาท ต่อคน ยังไม่รวมที่อาจจะต้องจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นกว่าที่นี่ เช่น การรักษาโรคหัวใจ รักษาดวงตา ผ่าตัดลำไส้ จะมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ และต้นทุนชีวิต

ปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในห้องคลอดและตึกสูตินารีเวชด้วย

เสี่ยงแม่ทำร้ายเด็ก-ทำร้ายตัวเอง

นอกจากผลกระทบที่เกิดกับเด็กทารกแรกเกิดแล้ว กมลพร ถนอมเงิน หัวหน้าหอผู้ป่วยสูตินารีเวช เล่าว่า มักพบพฤติกรรมก้าวร้าวของแม่ที่ใช้สารเสพติด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ทำร้ายเด็กหรือทำร้ายตัวเอง จากอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสารเสพติด รวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องตรวจเช็คสารแอมเฟตามีนในตัวแม่และตัวเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อระงับการให้นมของแม่ที่มีสารตกค้าง

อีกทางหนึ่งต้องสังเกตอาการของทารกที่มีสารในกระแสเลือดอย่างใกล้ชิด ก่อนส่งต่อไปรักษา ควบคู่กับการให้คำแนะนำในการคุมกำเนิด

กมลพรกล่าวต่อว่า พวกเรากังวลกันคือ หนึ่ง เมื่อเขากลับไปแล้วเขาจะทำร้ายเด็กหรือไม่ เกิดความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่ สอง เขาจะมีการตั้งครรภ์อีกหรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่คำนึงถึงว่าตัวเองจะต้องคุมกำเนิดอย่างไร สาม เมื่อกลับไปแล้วเขาจะมีการบำบัดต่อมั้ย เขาจะรักษาต่อมั้ย หรือจะใช้ยาเสพติดต่อมั้ย และเมื่อกลับไปแล้วเขาจะอยู่ในสังคมนั้นได้มั้ย

สถิติพบหญิงตั้งครรภ์ใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้น

การทำงานเชิงลึกของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลปทุมธานี ทำให้พบตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญของการใช้สารเสพติดในกลุ่มผู้ตั้งครรภ์

สถิติตั้งแต่ปี 2561-2563 แสดงให้เห็นถึงตัวเลขผู้ตั้งครรภ์ที่ใช้สารเสพติดสูงขึ้นต่อเนื่อง นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็ก

ปี 2561 จำนวน 57 คน ปี 2562 จำนวน 106 คน ปี 2563 จำนวน 33 คน นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตการใช้ความรุนแรงในเด็ก

วรภัทร แสงแก้ว หัวหน้าศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลปทุมธานี กล่าวว่า การเก็บข้อมูลของศูนย์ฯ เพียงศูนย์เดียว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหายาเสพติดที่วนเวียนในครอบครัวที่ มีการใช้สารเสพติด ตั้งแต่พ่อ แม่ ลูก และเด็กแรกเกิด

พวกเราอยู่ในสายการแพทย์และสาธารณสุข ก็ไม่อยากเชื่อว่า อะไรจะมีได้เกือบทุกวันขนาดนี้ บางวันมากกว่า 1 ราย ดูแล้วน่าตกใจ ฉะนั้นคุณภาพชีวิตคืออนาคตของประเทศ ของเด็กไทยจะเป็นยังไง ในเมื่อมีการใช้สารเสพติดตั้งแต่ตั้งครรภ์แล้ว การใช้ความรุนแรงต่อเด็กใช้ตั้งแต่เกิดเลย ตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว

บางคนเสพตั้งแต่ตั้งครรภ์อ่อนๆ จนถึงก่อนคลอดเลย เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาดูว่า จะมีผลกระทบเยอะมากสำหรับเด็กๆ ที่เกิดมา ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมาก

การช่วยเหลือ ติดตามผล ในกลุ่มแม่ที่ใช้สารเสพติด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรยาเสพติด และควรมีกฎหมายบังคับให้แม่ ตรวจสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับการหาเชื้อเอชไอวี และโรคอื่นๆ เพื่อสกัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กุมารแพทย์ชี้ส่งผลต่อพัฒนาการ-พฤติกรรมเด็ก

นพ.ปรัชญ์ เฉลยโภชน์ กุมารแพทย์โรงพยาบาลปทุมธานี บอกว่า แม่ที่ใช้สารเสพติดช่วงตั้งครรภ์ สารจะซึมผ่านเข้าปอดของแม่เข้าสู่กระแสเลือด ผ่านไปยังรก ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด เช่น น้ำหนักแรกเกิดน้อย มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด เส้นรอบศรีษะมีขนาดเล็ก มีภาวะปอดติดเชื้อ ถึงขั้นปอดแตกจากการสำลักขี้เทาก่อนคลอด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้สารเสพติดของแม่

บางรายเสพยาก่อนมาคลอดเพียง 2 ชั่วโมง ยิ่งแม่เสพยาใกล้คลอด โอกาสที่สารเสพติดจะอยู่ในเด็กก็จะนานขึ้นเท่านั้น

หากโชคดีเด็กคลอดครบกำหนด ก็จะใช้เวลาประมาณ 1-5 วัน ขับสารเสพติดออกจากร่างกายเด็ก แต่หากมีภาวะรุนแรงมาก ต้องรักษาอยู่ในห้องไอซียูเป็นเวลานาน และมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดรายละ1 แสนบาท

เหมือนเอาสารพิษไปให้ลูกตั้งแต่ในครรภ์

นพ.ปรัชญ์ เฉลยโภชน์ กล่าวว่า เป็นห่วงในเรื่องสุขภาพของเด็กที่เกิดขึ้นมา เพราะตั้งแต่แรกเกิดเขาไม่รู้เรื่องเลย เพราะเขาอยู่ในท้อง แต่แม่ที่มีหน้าที่จะต้องดูแล เตรียมครรภ์ จะต้องให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรง แต่แม่กลับใช้สารเสพติด เหมือนเอาสารพิษไปให้เขาโดยที่เขาไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องโชคร้ายของเด็ก ถ้าเขาเกิดมาแล้วมีปัญหาเรื่องสุขภาพตั้งแต่แรกเกิด

น้ำหนักตัวน้อย ศีรษะเล็ก และระยะยาว หากแม่พาลูกกลับบ้านไป ความเห็นของแพทย์ก็ไม่สบายใจว่า แม่จะเลี้ยงลูกได้ครบหรือไม่ เหมาะสมหรือเปล่า เวลาลูกร้องเยอะๆ ลูกหิวนม แม่จะเกิดปัญหาเรื่องอารมณ์ อาจเกิดการทำร้ายเด็กตามมาได้หรือเปล่า

แค่ซักประวัติหมออาจไม่รู้ว่าแม่เสพยา

กุมารแพทย์ โรงพยาบาลปทุมธานี ยอมรับว่า ระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์ไม่สามารถรู้ได้ว่าแม่เสพยาหรือไม่ มีเพียงการซักประวัติเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของแม่เท่านั้น ปัญหาที่พบ คือการปกปิดข้อมูลการใช้สารเสพติด หลีกเลี่ยงฝากครรภ์ ตั้งใจมาคลอดเลย บางรายเปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีลูกหลายคน เมื่อเจ้าหน้าที่แนะนำให้คุมกำเนิด กลับปฏิเสธ ทำให้ผลกระทบตกอยู่กับเด็ก

ด้านเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ระบุว่า เป็นความซ้ำซ้อนของปัญหาแม่วัยรุ่นที่ใช้สารเสพติด ที่มีอัตราการฝากครรภ์ ในสถานพยาบาลของรัฐต่ำกว่ามาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแม่และทารก ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องดูแล คุ้มครองสูง

จิตติมา ภาณุเตชะ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ต้องมีระบบสหวิชาชีพ ที่ทำงานเชื่อมโยง เชื่อมต่อกับระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลอยู่ ฉะนั้นช่องว่างสำคัญที่จะช่วยอุดช่องว่าง ช่วยทำให้มาเติมเต็มกลุ่มเปราะบางเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการของสหวิชาชีพ

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การแก้ปัญหาเชิงระบบที่ต้องมีศูนย์บริการให้คำปรึกษาท้องไม่พร้อมของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงการทำงานของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหน่วยบริการสุขภาพคล้ายศูนย์พึ่งได้ แต่มุ่งเน้นให้คำปรึกษาและเน้นประสานช่วยเหลือส่งต่อเพื่อให้แม่วัยรุ่นมีทางเลือกมากที่สุด

ป.ป.ส.พบผู้หญิงวัยรุ่นเสพยามากขึ้น

ถ้าเจาะจงไปที่กลุ่มผู้เสพยาเสพติดที่เป็นผู้หญิง เลขาธิการ ป.ป.ส. ยอมรับว่า กลุ่มผู้เสพยาเสพติดเพศหญิง ในช่วงอายุระหว่าง 15 - 24 ปี มากถึงร้อยละ 40 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยพบพฤติกรรมหลังเสพยาเสพติด มักจะมีเพศสัมพันธ์จนนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่า ช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี มีสัดส่วนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มากกว่าช่วงอายุอื่น ถึงประมาณร้อย 40 และยังมีแนวโน้มว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเพศหญิง เริ่มเข้าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเภทยาออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือกลุ่มยาประเภทไอซ์

ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า หากเสพแล้วจะมีผิวพรรณที่ดี ไม่อ้วน จึงเข้าสู่ผู้เสพยาเสพติด กระทั่งอยู่ในสภาวะที่มีการรวมตัวมั่วสุม พบปัญหาตามมา หนึ่งในนั้นคือการเสพยาและมีเพศสัมพันธ์ จนผู้เสพหลายคนตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

แนะควรแจ้งหมอ และเข้ากระบวนการบำบัด

นิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวว่า ใครที่ตั้งครรภ์อยู่แล้วใช้ยาหรือเสพยาเสพติดอยู่ อย่างแรกเลยคือควรรักตัวเองแล้วรักลูกที่อยู่ในครรภ์ เมื่อไปฝากครรภ์ พบแพทย์ ขอให้แจ้งเลยว่า ตัวเองเสพยาอยู่ ส่วนจะติดหรือไม่ เดี๋ยวจะมีกระบวนการบำบัดรักษาคู่ขนานกันไป แพทย์จะได้ทราบว่าจะต้องดูแลอย่างไร เพราะว่าเป็นอันตราย อยู่ในภาวะเสี่ยง อันตรายทั้งตัวเองและทั้งเด็ก ดังนั้นอย่ากังวล อย่ากลัว

ส่วนแนวทางการแก้ไข เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า มาตรการป้องกันผู้เสพยาเสพติด ควรเริ่มจากการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากการบำบัดรักษาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ หรือกรณีที่หากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว ผู้เสพที่อยู่ในขณะตั้งครรภ์ สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดได้ แต่ยาเสพติดจะต้องมีอยู่ในปริมาณไม่เกินที่กำหนด โดยไม่มีโทษทางกฎหมาย และเมื่อปฎิเสธไม่ยอมเข้ารับการบำบัด อาจจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเสพยาเสพติดของแม่ ไม่เพียงแต่จะทำให้แม่ต้องเสียสุขภาพเท่านั้น แต่ที่รุนแรงเป็นอย่างมาก คือ ผลกระทบที่เกิดกับลูกน้อยที่จะออกมาลืมตาดูโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง