Thailand Web Stat
ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอล็อต" นำทีมตรวจค้างคาวมงกุฏหาเชื้อ COVID-19 ในถ้ำสะดอ

สิ่งแวดล้อม
14 มิ.ย. 63
09:30
978
Logo Thai PBS
"หมอล็อต" นำทีมตรวจค้างคาวมงกุฏหาเชื้อ COVID-19 ในถ้ำสะดอ
กรมอุทยานฯ - ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เข้าพื้นที่ถ้ำสะดอ จ.จันทบุรี ลุยจับค้างคาวมงกุฏหาเชื้อ COVID-19 ครั้งแรกในไทย หวังจัดระบบฐานข้อมูล พบบางพื้นที่นิยมกินค้างคาว เสี่ยงได้รับเชื้อโรค

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คนไทยคนแรกที่ค้นพบเชื้อไวรัส COVID-19 ในไทย อ.ประทีป ด้วงแค คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ร่วมกันตรวจหาค้างคาวภายในถ้ำสะดอ หมู่ 2 ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยวางแผนจับค้างคาวมากกว่า 100 ตัว นำมาเก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย และอุจจาระ และนำตัวอย่างที่เก็บได้ไปตรวจหาเชื้อไวรัส COVID 19 และเชื้อไวรัสที่สำคัญอย่างละเอียดในห้องแล็บ

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


ดร.สุภาภรณ์ ระบุว่า สาเหตุที่ต้องเริ่มมีการตรวจสอบค้างคาวมงกุฏ เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า ไวรัส COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในคนมีลักษณะเดียวกันกับไวรัสที่พบในค้างคาวมุงกุฏ ซึ่งค้างคาวชนิดนี้มีอยู่ในไทยด้วย โดยค้างคาวมงกุฏในไทยมีถึง 23 สายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องค้นหาโรคและไวรัส COVID-19 ในค้างคาวมงกุฏทุกสายพันธุ์ และเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการหาเชื้อไวรัส COVID-19 ในค้างคาวมุงกุฏอย่างเป็นระบบ

การวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาวที่เมืองไทยทำมาเกือบ 20 ปี ยังไม่เคยมีการตรวจสอบค้างคาวมงกุฏ จึงยังไม่มีข้อมูลว่าค้างคาวมงกุฎมีเชื้อไวรัส COVID-19 หรือไม่ ซึ่งจะต้องหาคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


นอกจากนี้ หากมองการพบเชื้อไวรัส COVID-19 ในค้างคาวมงกุฏแบบเดียวกับที่พบค้างคาวสายพันธุ์นี้ในประเทศจีน เมืองไทยก็มีโอกาสจะพบเชื้อไวรัสนี้ แต่อัตราการติดเชื้อจะมีโอกาสมากหรือน้อยต้องตรวจสอบต่อไป และหากค้างคาวมงกุฏมีไวรัส COVID-19 จะทำให้เชื้อกลับมาระบาดในไทยหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์การกินอาหารของคนไทย หากไม่กินค้างคาวก็ยากจะได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ที่น่ากังวล คือคนที่ยังนิยมกินค้างคาวเป็นอาหาร มีโอกาสจะติดเชื้อได้ง่ายมาก

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


ด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล เปิดเผยว่า​ เป็นที่น่ากังวลที่ยังมีคนนิยมกินค้างคาว เพราะมีความเชื่อผิดๆ สำหรับการกิน การจับ มีโอกาสจะได้รับเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคใดๆ ก็ได้จึงจำเป็นต้องทำคู่มือว่าด้วยเรื่องการอยู่ร่วมกับค้างคาวอย่างปลอดภัยแจกจ่ายให้ประชาชน ขณะนี้กลุ่มนักวิจัยกำลังศึกษาเส้นทางการอพยพ เส้นทางการหากินของค้างคาว โดยเน้นไปที่ค้างคาวมงกุฏ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสหรือโรคที่มาจากค้างคาวในอนาคต เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับไวรัส

วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุด คือการไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติหรือบุกรุกป่า ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่า เชื้อโรคใดๆ จากสัตว์ป่าก็ไม่สามารถมาสู่คนได้

ทั้งนี้ กว่า​ 20​ ปี​ ทีมนักวิจัยไทยเดินหน้าตรวจหาเชื้อโรคในค้างคาว​ แต่เป็นครั้งแรกของไทยกับภารกิจตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19​ ในค้างคาวมงกุฎ โดยขั้นตอนหลังจากที่จับค้างคาวมาจากถ้ำ นำมาที่สถานีเพื่อเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจที่แล็ป มีดังนี้

1.จุดตรวจทางสันฐานวิทยา ดำเนินการจำแนกชนิดค้างคาว เพศ ช่วงวัย และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA

2.จุดเก็บตัวอย่างค้างคาว ดำเนินการเก็บตัวอย่างสวอปปาก (Oral swab) สวอปก้น (Rectal swab) และตัวอย่างเลือด

3.จุดเก็บรักษาตัวอย่าง ดำเนินการปั่นเลือดเพื่อแบ่งแยกซีรั่ม และเม็ดเลือดแดง เพื่อรักษาคุณภาพตัวอย่าง ก่อนนำส่งห้องปฏิบัติการต่อไป

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช



 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Failed to load player resources

Please refresh the page to try again.

ERROR_BYTEARK_PLAYER_REACT_100001

00:00

00:00

ให้คะแนนการอ่านข่าวนี้