ขอโทษคนแพร่! กรมอุทยานฯ ชี้ "รื้อเพื่อซ่อม"อาคารบอมเบย์เบอร์มา

ภูมิภาค
17 มิ.ย. 63
18:29
5,651
Logo Thai PBS
ขอโทษคนแพร่! กรมอุทยานฯ ชี้ "รื้อเพื่อซ่อม"อาคารบอมเบย์เบอร์มา
กรมอุทยานฯ แจงปมรื้ออาคารประวัติศาสตร์ "บอมเบย์เบอร์มา" 127 ปี พร้อมขอโทษข้อผิดพลาดที่ไม่ชี้แจงชาวแพร่ แต่ยังมั่นใจแค่รื้อออก เพื่อปรับปรุงแต่ยังคงโครงสร้างเดิม ทำบัญชีไม้ทุกแผ่น หากผุพังจะทำทดแทน กำหนดแล้วเสร็จภายใน 180 วัน

กรณีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 รื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มา อาคารประวัติศาสตร์เรือนไม้สองชั้นอายุ 127 ปี ในสวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ จนเกิดกระแสคัดค้านจากประชาชนชาวแพร่ โดยร้องเรียนนางกานต์ เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการ จ.แพร่

วันนี้ (17 มิ.ย.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ชี้แจงว่าเป็นการซ่อมแซมอาคารแต่ของบประมาณจังหวัด ส่วนการรื้ออาคารซึ่งเป็นไม้ทั้งหลัง ไม่ได้เอาไม้ไปไหน ไม้ทุกแผ่นยังกองอยู่ที่เดิม ส่วนสาเหตุที่ต้องรื้อไม้ลงมา เพราะฐานรากคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ การจะซ่อมแซมได้ต้องทุบทิ้งแล้วทำฐานใหม่  เมื่อทำฐานเสร็จก็จะนำไม้ที่รื้อออกมาประกอบเป็นตัวอาคาร

เมื่อประกอบเสร็จคาดว่าก็จะมีคนบอกว่าไม่เหมือนเดิมแต่ถ้าไม่ซ่อมแซมอาคารก็จะพัง เพราะผ่านมาเป็น 100 กว่าปีแล้ว ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อบูรณะเสร็จแล้วจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าสีอาจผิดเพี้ยนบ้าง แต่เชื่อว่า จ.แพร่ มีช่างฝีมือ การประกอบอาคารหลังการบูรณะจะกลับมาเหมือนเดิมได้อย่างแน่นอน

ผอ.สบอ.แพร่ ชี้แจงรื้อเพื่อปรับปรุงใหม่ 

ด้านนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กล่าวว่า อาคารบอมเบย์เบอร์มา เป็นอาคารเก่าที่บริษัทค้าไม้ข้ามชาติ บริษัทอีสเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้สัมปทานค้าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยตั้งแต่ปี 2438 เมื่อยกเลิกสัมปทานป่าไม้ไป อาคารจึงมาอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ แต่ด้วยความเก่าของตัวอาคารกว่า 127 ปี ทำให้มีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา อีกทั้งได้เปิดพื้นที่ให้เที่ยวชมพื้นที่ได้ จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมตัวอาคารจำนวนมากในแต่ละปี

การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2559 สภาพอาคารเริ่มมีการผุกร่อนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเห็นว่าควรซ่อมแซมปรับปรุง เพื่อให้ตัวอาคารมีความปลอดภัย จึงมีการของบ จ.แพร่ปี 2561 และรับอนุมัติงบปี 2563 จำนวน 6.7 ล้านบาท 

นายอิศเรศ กล่าวอีกว่า เนื่องจากพื้นที่ของอาคารบอมเบย์เบอร์มา อยู่นอกเขตเมือง จึงไม่ถูกระบุว่าจะต้องทำตามขั้นตอนการประชาพิจารณ์ความเห็นของพื้นที่ ทำให้ผู้รับเหมาโครงการดำเนินการรื้อถอนตามสัญญาว่าจ้าง ทั้งนี้การรื้ออาคารเก่าซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความผูกพันธ์กับชุมชน ส่งผลกระทบสร้างความเสียใจต่อประชาชนในพื้นที่ และประชาชนที่เคยมาเที่ยวชมอย่างมาก

ขอโทษชาวแพร่ และประชาชนที่เสียใจกับการรื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มา เป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ชี้แจงให้ทราบล่วงหน้า ยืนยันเป็นการรื้ออาคารเพื่อทำการปรับปรุงสร้างใหม่ที่คงรูปแบบเดิม 

อ่านข่าวเพิ่ม  ผู้ว่าฯ แพร่ สั่งตั้ง คกก.สอบข้อเท็จจริงรื้อเรือนไม้ 127 ปี

ทำบัญชีไม้ทุกแผ่น-สร้างแบบเดิมภายใน 180 วัน

ผอ.สบอ.13  ยืนยันว่าการรื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มา ไม่ใช่การทุบทิ้งหรือทำลายแต่อย่างใด เป็นขั้นตอนการรื้อ เพื่อดำเนินการบูรณะปรับปรุงอาคารบอมเบย์เบอร์มาขึ้นใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยอาคารเสื่อมสภาพอย่างมาก จึงต้องรื้ออกทั้งหมด โดยรักษาชิ้นส่วนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์เก็บไว้เป็นชิ้นส่วนหลักในการปรับปรุงอาคารใหม่ที่คงรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นไปตามเจตนาเดิมแต่แรก ที่จะปรับปรุงอาคารให้คงความเดิมให้มากที่สุด ชิ้นที่ผุพังจะทำใหม่ขึ้นมาทดแทน

มีการทำบัญชีจัดกลุ่มไม้แต่ละส่วน เช่น ไม้เสา ไม้คาน ประตูหน้าต่าง ชิ้นดี ชิ้นเสีย โดยจะนำกลับมาประกอบตามโครงสร้างเดิมบนพื้นที่เดิมอย่างแน่นอน ตามกำหนดแล้วจะสร้างปรับปรุงอาคารเสร็จภายใน 180 วัน

นักวิชาการเสียดายอาคารประวัติศาสตร์

สำหรับการรื้ออาคารประวัติศาสตร์ดังกล่าวทำให้หลายคนที่เคยทำงานและเคยเดินทางไปเที่ยวต่างเสียดายกับการรื้ออาคารเก่าแก่ โดยนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า เป็นคนชอบขับรถเที่ยวทั้งเมืองไทยและเมืองนอก จุดที่ชอบมากคืออาคารเล็กๆ มีประวัติศาสตร์เรื่องราว ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกว่าเข้าถึงได้ง่ายกว่าแหล่งท่องเที่ยวใหญ่เป้งพอมาเห็นข่าวอาคารของ บ.บอมเบย์เบอร์มา สร้างมาตั้งแต่พ.ศ.2432 อายุ 130 ปี ถูกรื้อทำลายสิ้นสภาพแบบนี้ รู้สึกไม่ดีเลยครับ

ยิ่งเห็นชื่อโครงการ “ปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร...” แต่สภาพที่ปรากฏเรียกว่าถล่มทิ้งแล้วสร้างใหม่น่าจะเหมาะกว่า เราอาจสร้างอาคารใหม่ได้ แต่เราสร้าง “อายุ” ของอาคารไม่ได้ สร้างร่องรอยประวัติศาสตร์ 130 ปียิ่งไม่ได้

ในหลายประเทศที่ไป เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ เมืองไหนมีอาคารแบบนี้ อายุระดับนี้ คนในเมืองล้วนแต่ไชโยดีใจ เป็นแหล่งเที่ยวระดับ A+ ได้เลยนยิ่งมีสตอรี่เกี่ยวข้องกับเมืองถิ่นฐาน ยิ่งน่าสนใจ ใครก็อยากมาเห็นมาเรียนรู้

ในประเด็นนี้ ผู้เกี่ยวข้องคงต้องชี้แจงกันไป แต่อยากฝากไว้ ในช่วงหลังโควิด เรากำลังจะมีการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั่วประเทศ ผู้รับผิดชอบคงต้อง “รอบคอบอย่างถึงที่สุด” สำรวจพื้นที่ สำรวจสิ่งก่อสร้าง สำรวจความเป็นธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ไถ่ถามชุมชนปราชญ์ท้องถิ่น ปรึกษาคนทำงานด้านวิชาการ ฯลฯ

แม้แต่พื้นที่ต่างๆ จะอยู่ในความดูแลของหน่วยงานท่าน แต่ดูแล ไม่ได้หมายความว่าเป็นเจ้าของไม่มีใครเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ได้ครับ

ยิ่งยุคนี้ มีการตรวจสอบติดตามจากผู้คนอย่างเข้มแข็ง และข่าวมาได้สารพัดทิศรอบคอบ จึงเป็นสิ่งที่ควรมีในทุกโครงการประเภทปรับปรุงเปลี่ยนแปลงฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือภาคเอกชน หวังว่าบทเรียนนี้คงจะช่วยให้ทุกหน่วยทุกฝ่ายลุกขึ้นมาตรวจสอบติดตามดูว่า ในพื้นที่เรามีอะไรสำคัญ อะไรที่ควรหวงแหน อะไรที่ควรกาไว้ว่าห้ามรื้อห้ามทำลาย แต่ทำนุบำรุงไว้ให้สมฐานะรากเหง้าความเป็นมา

และอาจหาทางสนับสนุนผลักดันให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยปรึกษากับผู้รู้อย่างใกล้ชิด คุยกับชาวบ้านให้ทั่วถึงกรุณาอย่าทุบทำลายประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยความไม่รอบคอบพวกเราคนไทยช่วยกันเป็นหูเป็นตา แม้หนนี้อาจสายไป แต่หนนี้ทำให้มีหนหน้าหนหน้าที่เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ทำนุบำรุง” อย่างแท้จริง

สำหรับโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน ใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-bidding เลขที่ E 44/2563 ลงวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยผู้ชนะการเสนอราคาต่ำสุด คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่โกสินทร์ก่อสร้าง ราคา 4.56 ล้านบาท

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง