ดีเดย์ เซ็นร่วมทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก

เศรษฐกิจ
19 มิ.ย. 63
12:36
1,280
Logo Thai PBS
ดีเดย์ เซ็นร่วมทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ย้ำเป็นโครงการสำคัญผลักดัน EEC สู่เป้าหมายพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค

วันนี้ (19 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และบริษัทอู่ตะเภา International aviation จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะการประมูลโครงการ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วที่เริ่มต้นในระยะแรกและสานต่อมายังรัฐบาลนี้ พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่ผลักดันโครงการนี้มาตั้งแต่แรก เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต ในการร่วมขับเคลื่อนสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของ EEC ที่จะสามารถช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน เนื่องจากพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมไปยัง 3 สนามบิน และการพัฒนาสนามบินมีส่วนขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยต้องเร่งขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

นี่คือโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลง แม้จะไม่มี COVID-19 เข้ามา ทุกอย่างต้องปรับตามสถานการณ์โลก เช่นเดียวกับรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยน ไม่ปรับก็อยู่ไม่ได้ แม้ใครจะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ระบุว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท รัฐบาลจะได้ประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานปีละ 15,000 ตำแหน่ง ระยะเวลา 5 ปี

 

พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ยืนยันว่า หลังจากลงนามสัญญาแล้ว จะเร่งส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชน เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากพื้นที่อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือเป็นผืนเดียวกัน

ส่วนการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 เป็นทางวิ่งที่มีความยาว 3,500 เมตร กองทัพเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน EHIA ครั้งที่ 3 เนื่องจากในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้การจัดทำรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนถูกเลื่อนออกไป คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้เสร็จได้ภายในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 โดยจะทำคู่ขนานไปกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนด

ด้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยืนยันว่า ภายหลังจากการลงนามแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการเชื่อมระหว่าง 2 สัญญา เนื่องจากเอกชนที่ได้ประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากโครงการเมืองการบิน ไม่ใช่เอกชนรายเดียวกัน จึงต้องตั้งคณะกรรมการ 2 สัญญา เพื่อจะดำเนินการออกแบบและก่อสร้างให้ทั้ง 2 โครงการต้องเชื่อมหากัน ซึ่งในร่างทีโออาร์ระบุว่าการดำเนินการต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดทำรายละเอียด

สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก จะจัดทำแผนพัฒนาโครงการ 4 ระยะ โดยในระยะแรกจะมีอาคารผู้โดยสารพื้นที่ 157,000 ตารางเมตร สร้างเสร็จภายในปี 2567 รองรับผู้โดยสารได้เกือบ 16 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารซึ่งมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 107,000 ตารางเมตร คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปี 2573 รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสร้างเสร็จประมาณปี 2585 และในระยะที่ 4 จะมีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพิ่มขึ้น คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2598 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง