ใครรับผิดชอบ? ปมรื้อบ้านเขียว 127 ปี จ.แพร่

ภูมิภาค
20 มิ.ย. 63
09:17
7,421
Logo Thai PBS
ใครรับผิดชอบ? ปมรื้อบ้านเขียว 127 ปี จ.แพร่
นักสถาปัตยกรรม-อดีตปลัด ทส.ระบุเสียดายอาคารเก่าบอมเบย์เบอร์มา จ.แพร่ หลังถูกรื้อ เทียบการทำลายคุณค่าประวัติศาสตร์ค้าไม้ไทย-ของโลกเมื่อ127 ปี วอนเร่งฟื้นฟู ด้านป่าไม้ ตรวจสอบร้านขายไม้เก่า หลังถูกระบุลักลอบค้าไม้ แต่มีหลักฐานซื้อจากโรงเรียนอนุบาล

ความคืบหน้ากรณีการรื้ออาคารประวัติศาสตร์ "บอมเบย์เบอร์มา" อายุ 127 ปี ที่จ.แพร่ ซึ่งแม้ว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะออกมาชี้แจงและขอโทษชาวแพร่ต่อการรื้อถอนโดยขาดการชี้แจง ท่ามกลางคนหลากหลายวงการที่เคยเกี่ยวข้องและเคยเดินทางไปที่เรือนไม้เขียวแห่งนี้

วันนี้ (20 มิ.ย.2563) ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์น.ส.อิสรา กันแตง อาจารย์ประจำสาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ที่เคยทำงานเรื่องแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย และฟื้นฟูเมืองเเพร่ เมื่อปี 2550 วางแผนพัฒนาย่านเจริญเมืองที่อยู่นอกเมืองเก่า ให้อยู่ร่วมกัน ยอมรับว่า เมื่อเห็นข่าวแล้วสะเทือนใจมาก เพราะว่าอาคารหลังนี้มีประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ ประวัติศาสตร์การเข้ามาทำไม้ บริษัทต่างชาติ มันไม่ใช่แค่ของเมือง ประเทศ ยังเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลกที่เหลือเป็นหลักฐาน 

สถาปัตยกรรมสวยมาก ไม่คิดว่านั้นคือการอนุรักษ์ นั้นคือการทำลาย ไม่ว่าจะมีการรังวัดไว้แล้ว สร้างใหม่ แต่ว่าต่อให้บอกว่าฐานรากไม่ดี ปลวกกินแล้ว มันไม่สามารถอยู่ได้ การที่จะเก็บออกมาอย่างเป็นระบบทำได้ดีกว่านั้น อันนี้มันคือ "เต" หรือว่า "รื้อ"เลย ทุกอย่างกระจัดกระจายหมด 

เสียใจแทน จ.แพร่ เพราะว่ามันมีคุณค่า ถ้าจะเทียบกับหลังอื่นๆ เมืองแพร่สมบัติเยอะส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้สักที่ดีมากๆมีอยู่เยอะมาก หลังอื่นเขาก็ทำได้อายุพอๆกัน อยู่ที่เจตนาและวิธี ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ จะบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่าให้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย มันทำร้ายจิตใจ  

อ่านข่าวเพิ่ม ขอโทษคนแพร่! กรมอุทยานฯ ชี้ "รื้อเพื่อซ่อม"อาคารบอมเบย์เบอร์มา

เสียดาย-เสียใจคุณค่าประวัติศาสตร์หาย

น.ส.อิสรา บอกว่า ต่อให้สร้างใหม่มันก็ไม่เหมือนเดิม การที่เรามีอาคารหลังเดิมแล้วซ่อมแซม จิตวิญญาณของเดิม ไม้อันเดิม เคยมีคนอยู่ ลวดลาย ทำให้แข็งแรงขึ้นมันมีคุณค่ากว่าสร้างใหม่ทั้งหลัง และงบประมาณที่มีอยู่ก็ไม่น่าจะทำได้ ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางสถาปัตยกรรม 

ทุกคนที่เห็นภาพข่าวเสียใจ กับการทำลายอาคารไม้แห่งนี้ แต่อยากให้จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยน ในการดูแลอนุรักษ์รักษาอาคารเก่า ที่ต้องเน้นการสื่อสารคุณค่า เก็บรักษา และใช้ประโยชน์อาคาร ให้อาคารหลังนี้เป็นหลังสุดท้ายเตือนใจกับหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุรักษ์โดยตรง

 

ปลัดทส.กำชับก่อนรื้อถอนอาคารเก่าต้องรายงาน

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมอุทยานฯสำรวจไม้ที่รื้อถอนออกมาทั้งหมด และเก็บรักษาอย่างดี เพราะเรื่องเกิดมาแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด ประสานกรมศิลปากร ในการบูรณะขึ้นมาใหม่ ยอมรับว่าเป็นสิงที่ไม่าควรเกิดขึ้น และสั่งให้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตรงนี้ออกไป ส่งรองอธิบดีกรมอุทยานฯลงพื้นที่ เชิญทุกภาคส่วนมาพูดคุยกัน

เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญ จึงกำชับการรื้อถอนอาคารต่างๆรวมทั้งต้นไม้ที่มีอายุ 100 ปีจะ ต้องขออนุญาตและรายงานมา และต้องมีความรอบคอบ สอบถามประชาชน

เช่นเดียวกับ นายวิจารย์ สิมาฉายา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โพสต์เฟซบุ๊ก Wijarn Simachaya พร้อมกับภาพที่เคยถ่ายที่อาคารบอมเบย์เบอร์มา หรือบ้านเขียวว่า 
ก็ได้แต่เสียดาย มีโอกาสไปเยือนก่อนเกษียณ ยังแนะนำให้เจ้าหน้าที่ในขณะนั้นเขียนเรื่องราว (Story) ทั้งอาคาร ทั้งพื้นที่ ทั้งประเภทและอายุต้นไม้ ในบริเวณข้างเคียง และอนุรักษ์ไว้

ถือว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ทั้งอายุของอาคารมากกว่า 120 ปี เป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาและพัฒนาทางด้านการป่าไม้ของไทย ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ทั้งการศึกษาป่าไม้ การวิจัย การค้าและการอุตสาหกรรมป่าไม้ จนมาถึงปัจจุบัน รอฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่และทางจังหวัดครับ
ภาพ : Wijarn Simachaya

ภาพ : Wijarn Simachaya

ภาพ : Wijarn Simachaya

เจ้าของโรงไม้ ระบุประมูลไม้เก่าจากโรงเรียนอนุบาล

สำหรับกรณีดังกล่าวแม้ยังเป็นกรณีถกเถียงว่า ไม้ที่รื้อถอนออกมาถูกนำไปขายหรือไม่ โดยเจ้าของกิจการค้าไม้ที่ถูกอ้างถึงออกมายืนยันว่าไม้ที่มี ไม่ใช่ของอาคารบอมเบย์เบอร์ม่า แต่รับซื้อมาจากโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ในจ.แพร่ เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ร่วมกับฝ่ายปกครองจังหวัดแพร่ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 3 ภาคเหนือกรมป่าไม้ และ ตำรวจ เข้าตรวจสอบบ้านหัลงหนึ่ง ในหมู่บ้านปงท่าข้าม ต.บ้านปง อ.สูงเม่น จ.แพร่ หลังได้รับการแจ้งเบาะแสว่า เป็นที่ตั้งของร้านซื้อ-ขายไม้เรือนเก่า ที่อาจเกี่ยวข้องกับการลักลอบซื้อขายไม้เก่า ที่ถูกรื้อถอนจากอาคารบอมเบย์เบอร์ม่า อายุ 127 ปี

เจ้าของกิจการรับซื้อไม้เรือนเก่า แสดงเอกสารและให้การว่า ไม้แปรรูป และ ส่วนประกอบของบ้านที่มีสีฟ้าอ่อน คล้ายกับไม้สักที่รื้อออกจากอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ เป็นไม้เนื้อแข็งที่ชนะการประมูลมาจากโรงเรียนอนุบาลเทพสุนทรินทร์ ต.บ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่ จำนวน 260,000 บาท หลังจากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องคนที่นำข้อมูลไปโพสต์กล่าวหา เพราะทำให้เสียชื่อเสียง

ในประเด็นนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เมื่อวานนี้ไปยื่นหนังสือ กับ ปปช. ขอให้ตรวจสอบการรื้อถอดอาคารดังกล่าว โดยระบุว่า ทางสมาคมฯได้รับข้อมูลว่ามีการซื้อขายไม้ของอาคารด้วย แต่พอเรื่องแดงขึ้นก็มีความพยายามเจรจาของไม้คืนบางส่วน แต่ก็ถูกปฏิเสธเพราะ คืนไม้ได้แต่ไม่คืนเงิน

กรมอุทยานฯ ขอโทษคนแพร่-เร่งฟื้นฟูกลับคืน

ส่วนนายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ใช้โอกาสการเปิดเวทีชี้แจงปัญหาโครการซ่อมแซมอาคาร กล่าวขอโทษชาวจ.แพร่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเปิดเผยว่า บ้านหลังนี้ อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรม ยืนยันว่างบประมาณจะไม่มีปัญหา และจะเร่งดำเนินการให้อาคารกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ตัวแทนบริษัทผู้รับเหมาชี้แจงว่า อาคารหลังนี้ ไม่ได้สร้างจากไม้สักทั้งหลัง มีไม้จำนวนมากถูกปลวกกินเสียหาย ขณะที่ฐานของตัวบ้านทรุดตัว เนื่องจากปลูกสร้างค่อนข้างตื้น ลึกลงไปในชั้นดินเพียง 50 เซ็นติเมตร ส่วนคอนกรีดและอิฐก็เสื่อมสภาพ จึงจำเป็นต้องรื้อเพื่อสร้างฐานให้แข็งแรง จากนั้นจึงจะประกอบตัวบ้านขึ้นมาใหม่ โดยไม้เดิมจะนำมาตกแต่งด้านนอก ส่วนภายในต้องใช้วัสดุทดแทนของเก่าที่เสื่อมสภาพ

ด้านเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าการสร้างใหม่จะใช้ไม้เก่าเดิมที่มีอยู่และสร้างให้ใกล้เคียงของเดิมที่สุด โดยจะเข้าร่วมตรวจสอบ กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ว่าฯ แพร่ สั่งตั้ง คกก.สอบข้อเท็จจริงรื้อเรือนไม้ 127 ปี

"ศรีสุวรรณ" ยื่นสอบรื้ออาคารเก่าบอมเบย์เบอร์มา "ขาย" พ่อค้าไม้

กรมศิลปากร เร่งฟื้นฟูโบราณสถาน "อาคารบอมเบย์เบอร์มา"

 สบอ.13 ชี้แจงไม้เก่าของพ่อค้าไม้ ไม่ใช่ชิ้นส่วนบอมเบย์เบอร์มา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง