"มหิดล" คิดค้น “หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ " ช่วยพัฒนาวัคซีน

สังคม
23 มิ.ย. 63
13:34
537
Logo Thai PBS
"มหิดล" คิดค้น “หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ " ช่วยพัฒนาวัคซีน
วิศวะมหิดล - สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล พัฒนาหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีน ครั้งแรกในไทย

วันนี้ (23 มิ.ย.63) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คิดค้นนวัตกรรม “หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีน ครั้งแรกของไทย เพื่อเร่งสนับสนุนและยกระดับการพัฒนาวัคซีนของไทยสู่ระดับโลก โดยผสานเทคโนโลยีเอไอ ทั้งระบบจนจบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนจัดเตรียมการเพาะเชื้อไวรัส การทดสอบ การประมวลผล ระบบภาพ บันทึกผล และวิเคราะห์ผลหรือแนวโน้มได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ลดเสี่ยงการติดเชื้อและลดภาระขั้นตอนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาวัคซีนของศูนย์วิจัยวัคซีนต่างๆ ให้สำเร็จเร็วขึ้นและปลอดภัย

 

ความสำเร็จของความร่วมมือสร้างนวัตกรรม หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ ครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ร่วมกันศึกษาวิจัย ออกแบบและวิเคราะห์พัฒนาระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะทดสอบระดับภูมิคุ้มกันในการลบล้างฤทธิ์ของเชื้อไวรัส ตามเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้ คือ ยกระดับขั้นตอนการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนของไทยด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเอไอ โดยนำกระบวนงานเข้าสู่ Digital Platform ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย, ทดแทนภาระงานทำซ้ำและเสี่ยงอันตรายของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานกว่า 30%, ใช้ทดแทนแรงงานบุคลากรที่ขาดแคลนในการดำเนินการกระบวนการทดสอบในห้องวิจัยได้มากกว่า 50% โดยหุ่นยนต์สามารถทำงานอย่างอัตโนมัติได้ในทั้งกลางวันและกลางคืน และตามตารางเวลาที่กำหนด, ในอนาคตยังช่วยกระตุ้นให้เกิดสตาร์ตอัพและการจ้างงานของกลุ่มนักประดิษฐ์ ด้านเฮลต์แคร์และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งลดการนำเข้าวัคซีนและเทคโนโลยี-ซอฟท์แวร์จากต่างประเทศได้ปีละมหาศาล

 

 

นวัตกรรมหุ่นยนต์ เอไอ- อิมมูไนเซอร์สำหรับทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีนนี้ ส่งผลดีต่อการเสริมศักยภาพการพัฒนา วัคซีนไทยอย่างยิ่ง ซึ่งจะนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์และขยายผล ได้แก่ นำระบบทดสอบมาใช้งานจริง ในการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน ภายใต้มาตรฐานการทดสอบคุณภาพ โดยการใช้หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัตินี้มีระบบทวนสอบย้อนกลับ ด้วยข้อมูลดิจิทัล และ ระบบภาพ Machine Vision

 

นอกจากนี้ นวัตกรรมนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และลดขั้นตอนในการทำงานของบุคลากร ส่วนซอฟต์แวร์ AI สำหรับการประมวลภาพผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน สามารถนำมาใช้งานและเกิดการต่อยอดพัฒนาวัคซีนของไทยให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดภาระของการอ่านผลทดสอบโดยคน รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบวัคซีนที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนและประสบการณ์ในระยะยาว โดยหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในงานพัฒนาวัคซีนนี้ จะเป็นนวัตกรรมสำคัญที่รองรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ และช่วยยกระดับเทคโนโลยีด้านวัคซีนของประเทศไทย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง