ครั้งแรกของโลก! นิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์อัตลักษณ์สัตว์ทะเลตาย

สิ่งแวดล้อม
23 มิ.ย. 63
17:42
1,235
Logo Thai PBS
ครั้งแรกของโลก! นิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์อัตลักษณ์สัตว์ทะเลตาย
ครั้งแรกของโลก! กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จับมือจุฬาฯ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พิสูจน์อัตลักษณ์สัตว์ทะเลหายาก โดยใช้รูปแบบ "สืบจากศพ" มาสู่สัตว์ทะเลหายากที่ตายแบบมีเงื่อนงำ หลังพบ 2 ปีเกยตื้นตาย 970 ตัว ช่วยชีวิตกลับทะเล 200 ตัว

วันนี้ (23 มิ.ย.2563) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) การลงนามความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อชันสูตรการตายของสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มนุษย์จะศึกษาเพื่อหาความยุติธรรมให้แก่สัตว์ทะเล

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายโสภณ ทองดี อธิบดีทช.กล่าวว่า จากสถิติสัตว์ทะเลหายากที่พบการเกยตื้น ช่วงปี 2562–2563 พบสัตว์ทะเลหายากจำพวกเต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ เกยตื้นชนิดพบเป็นซากสะสมกว่า 970 ตัว สามารถช่วยรอดชีวิตกว่า 473 ตัว และสามารถปล่อยกลับลงสู่ทะเลกว่า 200 ตัว ที่ผ่านมา สาเหตุการตายหรือการเกยตื้นส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งจากเครื่องมือประมง กลืนกินขยะทะเล ปัญหามลพิษปนเปื้อนในน้ำทะเล การเสียชีวิตเนื่องจากโรคตามธรรมชาติ แต่หลายกรณียังไม่รู้สาเหตุการตายที่แน่ชัด เช่น พะยูนโดนตัดหัว ตัดเขี้ยว เป็นการตายแบบผิดธรรมชาติหรือไม่

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

สืบจากศพสัตว์ทะเลหายากตายปริศนา 

นายโสภณ กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม่ว่า ทช.จะมีสัตวแพทย์ในการตรวจพิสูจน์ชิ้นเนื้อ และหาร่องรอยสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตายได้แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอในบางกรณีที่พบสัตว์ทะเลหายากตายแบบปริศนา ดังนั้นจึงร่วมกับทางจุฬาฯ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ใช้เทคนิคการพิสูจน์อัตลักษณ์จากศพคน มาสู่การพิสูจน์ในสัตว์ทะเลหายาก เพื่อหาคำตอบตาย 

จะใช้เทคนิคตรวจร่องรอยการตาย และสืบจากศพที่ทำกับมนุษย์มาใช้กับสัตว์ทะเลที่ตาย เช่น หากเจอซากพะยูนหัวขาด จะใช้นิติวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ว่าตายจากคมมีด ตายแบบไหนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิด 

อธิบดีทช.กล่าวว่า กระบวนการพิสูจน์สัตว์ทะเลหายากตาย ในเคสที่ไม่สามารถยืนยันได้ สัตวแพทย์จะส่งให้ทางนิติวิทยาศาสตร์ และจุฬาฯ ร่วมตรวจสอบทันที ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เราจะใช้มิติทางวิทยาศาสตร์ และนิติวิทยาศาสตร์สืบศพสัตว์ทะเลตาย เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับสัตว์ทะเลที่ตาย 

นายโสภณ กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ได้มีนโยบายในการศึกษาและสืบหาสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการรักษา คุ้มครอง ฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากที่นับวันจะลดจำนวนลง 

ช่วง COVID-19 มีการปิดอุทยาน 140 แห่ง มนุษย์ได้อยู่ห่างจากธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว มีการรายงานการพบสัตว์ทะเลหายากบ่อยครั้งในหลายๆ แต่พื้นที่ในเดือนก.ค.นี้จะเริ่มเปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล จึงอยากให้การท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ครั้งแรกของโลกสืบหาความยุติธรรมให้สัตว์ทะเล

ด้านพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่เฉพาะต่อมนุษย์ แต่ยังคำนึงถึงความยุติธรรมต่อสัตว์ที่อยู่ร่วมโลก

อาจจะเป็นครั้งแรกของโลกที่จะใช้นิติวิทยาศาสตร์กับสัตว์ พิสูจน์และชันสูตรหาสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายาก เพื่อการศึกษาวิจัยและสืบหาความยุติธรรมให้แก่สัตว์ทะเลหายาก

ศ.น.สพ.ดร. รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในด้านวิชาการจะยึดหลัก Prevention better than cure หรือการป้องกันดีกว่าการรักษา ซึ่งทช. เป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่สำคัญจำเป็น การพิสูจน์สาเหตุการตายหรือการเกยตื้น จะเป็นประโยชน์สำคัญอย่างยิ่งในอนาคต ทางทีมสัตวแพทย์ จะใช้องค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อช่วยลดโอกาสการเกยตื้นและการตาย ในทางกลับกันทางทีมสัตวแพทย์ก็ยังได้ศึกษาวิจัย และเรียนรู้เพิ่มเติมจากความร่วมมือนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง