ย้อนตำนาน "เรือนเขียว" เมืองแพร่ ทำไมจึงสำคัญ-มีคุณค่า

สังคม
26 มิ.ย. 63
09:27
3,925
Logo Thai PBS
ย้อนตำนาน "เรือนเขียว" เมืองแพร่ ทำไมจึงสำคัญ-มีคุณค่า
ขณะที่หลายฝ่ายกำลังเร่งฟื้นฟู เพื่อให้ “เรือนเขียว” เมืองแพร่ หรือบ้านบอมเบย์เบอร์มา กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง สถาปนิกและชาวชุมชนเชตวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเรือนเขียวหลังนี้ เล่าถึงความสำคัญ

นฤมล วงศ์วาร กรรมการสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อทุกคนนึกถึงเมืองแพร่ หากต้องท่องเที่ยวทางสถาปัตยกรรมอาจจะนึกถึงคุ้มเจ้าหลวง คิดถึงคุ้มวงษ์บุรี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไม้ที่เกี่ยวกับเรื่องของเจ้าครองเมือง ซึ่งที่จริงแล้วทั้งหมดเกี่ยวกับการทำป่าไม้ในเมืองแพร่ และอาคารของป่าไม้ที่อยู่จำนวนมากแต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครทราบเพราะส่วนใหญ่จะไปดูสถาปัตยกรรมรูปแบบขนมปังขิง

นักท่องเที่ยวย้อนดูตำนานเมืองทำไม้สัก

“ฝรั่งหลายคนซึ่งทราบว่าเมืองไทยเป็นเมืองแหล่งไม้สัก โดยเฉพาะ จ.เเพร่ เป็นจังหวัดที่ส่งออกไม้สักมากที่สุดในช่วงหนึ่งของประเทศไทย ฝรั่งจะมาติดตามดูประวัติศาสตร์ ในช่วงหลังที่ผ่านมาประเทศไทยนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสำคัญกับการทำป่าไม้มากขึ้น จังหวัดแพร่นักท่องเที่ยวจึงคึกคักขึ้น”

สถานที่ริมแม่น้ำยม เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่สนใจเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คนในจังหวัดแพร่อยู่จนชิน จึงไม่มีใครเข้าใจว่าอาคารนี้เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ที่ต้องรักษา

 

ชาวบ้านอาจเห็นระยะหลังมีนักท่องเที่ยวขี่จักรยานมาเป็นกลุ่มมีผู้นำเที่ยวมา อธิบายการทำป่าไม้ ธุรกิจป่าไม้

“นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากอังกฤษ เดนมาร์ก หรือจากยุโรป ที่เคยเห็นฟอร์นิเจอร์ไม้สักที่สวยงาม จะรู้ว่ามาจากเมืองแพร่ จะตามมาถึงต้นตอ โดยการเที่ยวโรงเรียนป่าไม้ ของอีสต์เอเชียติกเดิม และมาที่ท่าน้ำซึ่งเป็นเส้นทางที่นายห้างอีสต์เอเซียติกใช้เดินสำรวจงาน”

สมัยก่อนคนในหมู่บ้านเชตวัน จะมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวต่างชาติ และจะมีชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น มิชชินนารี จะเข้ามาเผยแผ่ศาสนาตั้งเเต่ปี 2436

ยุคบุกเบิกของการทำไม้สักเมืองแพร่

"อาคารเขียว" สมัยก่อนช่วงทำไม้จะมีการล่องซุง ไม่มีอุปกรณ์การขน ที่เมืองแพร่ จะมีบริษัทเข้ามาทำไม้ มี 2 บริษัท คือ บอมเบย์เบอร์มา และ อีสต์เอเซียติก ซึ่งบอมเบย์เบอร์มา เข้ามาในช่วงยุคแรกเป็นเจ้าเเรกในประเทศไทย ที่มารับสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือ ต่อมาจากเชียงใหม่ ลำปาง และมาที่แพร่

ส่วนอีสต์เอเชียติกมาทำหลังบอมเบย์เบอร์มา 20 ปี หลังหมดสัมปทาน คาดว่ามีการขายพื้นที่สำนักงานบอมเบย์เบอร์มา ให้กับบริษัทอีสต์เอเชียติก แต่ก็อยู่ได้สักระยะได้เช่าที่กับสยาม เช่าเพื่อทำสำนักงานปัจจุบันคือ “โรงเรียนป่าไม้” ดังนั้นหมู่บ้านเชตวันจึงเป็นหมู่บ้านตำนานป่าไม้

"โรงเรียนป่าไม้" ห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตร จากริมแม่น้ำยมบ้านเชตวันในอดีตเส้นทางการล่องซุง ท่าน้ำนี้คือจุดสำคัญที่สุดที่เจ้าพนักงานจะต้องให้การอนุมัติมี 3 จุด (การอนุมัติจุดที่ตัด นำไม้ออกจากป่า และอนุมัติให้ล่องซุงได้)

 

“บ้านเขียว” จุดตีตราไม้-ล่องซุง

บ้านเชตวันและบริเวณบ้านเขียว คือ จุดที่อนุมัติให้ตีตราล่องซุงได้ บริษัทที่ได้รับสัมปทาน มีหน้าที่จัดหาสำนักงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าหน้าที่ตีตราและอนุมัติ จึงเชื่อกันว่าอาคารเขียว น่าจะเป็นผู้รับสัมปทาน (บอมเบย์เบอร์มา) จัดสร้างให้สำนักงาน หรือกรมป่าไม้ จุดนี้จึงมีความสำคัญในฐานะพื้นที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การทำไม้ก่อนที่จะล่องซุงตามแม่น้ำยม ผ่านศรีสัชนาลัย เข้าสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง บริเวณอาคารเขียว บ้านเชตวัน ในอดีตจึงเปรียบเหมือนเมืองท่าส่งออกไม้สัก ก่อนที่จะมีรถไฟ

"อาคารเขียว จึงเป็นเหมือนตัวบ่งบอกว่า หมู่บ้านเชตวัน หรือเมืองแพร่ มีประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไรในยุคหนึ่ง และเป็นจุดเริ่มต้นการป่าไม้ที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนป่าไม้ ซึ่งเป็นโรงเรียนการป่าไม้แห่งแรกของประเทศ และแห่งเดียวในของโลก”

 

เริ่มต้น “โรงเรียนวนศาสตร์”

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงให้ชาวอังกฤษจากอินเดีย มาทำการศึกษาทำไมป่าไม้ในเมืองไทย หรือการทำป่าไม้ในเมืองไทยถึงมีปัญหา หรือทำอย่างไรจะไม่เสียเปรียบต่างชาติ และไม่เกิดการทะเลาะกันกับผู้มารับสัมปทาน จึงทำการศึกษา ซึ่งมีข้อเสนอแนะหนึ่งในนั้นคือ "ต้องเปิดทำการสอนเรื่องการทำป่าไม้" ให้เป็นเรื่องเป็นราวในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงเปิดโรงเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเมื่ออีสต์เอเซียติกย้ายออกไป จึงคืนพื้นที่เช่า ให้กับกรมป่าไม้ จึงทำเป็นโรงเรียนการป่าไม้ในชื่อ "โรงเรียนวนศาสตร์ "

อาคารเขียว เมื่อเป็นอาคารของสำนักงานป่าไม้ จึงเป็นอาคารปิด เป็นสถานที่ราชการ ทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้อาคาร คนในพื้นที่ความทรงจำกับอาคารจึงค่อยๆ หายไป เมื่อเป็นสถานที่ราชการผู้คนจะไม่กล้าเข้าไปยุ่งด้วย เมื่อคนทั่วไปมองเป็นสถานที่ราชการ เคยเป็นสำนักงานป่าไม้เขต ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ริมถนนทางหลวง และถูกเปลี่ยนเป็นอาคารการเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องของป่าไม้ จึงทำให้คนไม่ค่อยสนใจ บ้านเขียวจึงอยู่นอกสายตา และยังอยู่นอกเขตเมืองเก่า ผู้คนไม่ค่อยทราบ หากไม่สนใจเรื่องประวัติของการทำไม้ หรือการทำป่าไม้ หรือไม้สัก

อาคารเขียวเป็นอาคารที่สมควรถูกอนุรักษ์ เป็นที่ทราบกันมานาน คนที่อยู่อาจไม่ค่อยรู้สึกถึงความสำคัญ เพราะเหมือนเห็นทุกวัน

คนไม่สนใจเพราะไม่รู้ประวัติศาสตร์

อาคารเขียว ในปัจจุบันยังไม่ได้นำมาถ่ายทอดให้ประชาชนได้เข้าใจ ความสำคัญของอาคารหลังนี้ เมื่อครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ตีตราไม้ และส่งไม้สักส่งออกจนเป็นสินค้าส่งของสำคัญของไทย ผู้คนทั่วไปจึงไม่ได้สนใจอาคารหลังนี้

อาคารเก่าๆ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของคนในชุมชน คนในชุมชนต้องเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่สวยงาม เป็นสถานที่ต้องท่องเที่ยว ยังต้องผูกพันเข้าไปในประวัติศาสตร์ของตัวเอง

การรื้ออาคารบ้านเขียว จึงเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ ที่ขาดการสะท้อน "คุณค่า" ความสำคัญของประวัติศาสตร์ตัวอาคาร

ขอบคุณภาพ : สำนักศิลปากรที่ 7 (เชียงใหม่)

 

โกวิท บุญธรรม

ผู้สื่อข่าวไทยบีพีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง