เปิดปม : อุปสรรคอยากกลับบ้าน

สังคม
29 มิ.ย. 63
14:12
295
Logo Thai PBS
เปิดปม : อุปสรรคอยากกลับบ้าน
5 เดือนที่มาเลเซียประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่นั่นต้องเดินทางกลับประเทศไทย และ กลายเป็นคนว่างงาน จนถึงวันนี้

เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้วที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19

ที่ผ่านมาแม้มีมาตรการผ่อนคลายออกมาเป็นระยะแต่ยังไม่มีทีท่าว่าทางการมาเลเซียจะอนุญาตให้คนไทยกลับเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียได้อีกครั้งเมื่อไร  ส่งผลให้แรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่นั่นและต้องเดินทางกลับประเทศไทย...กลายเป็นคนไม่มีงานทำ

แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้ทำงานรับจ้างในร้านอาหารไทย หรือที่เรียกว่า ร้านต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นแรงงานไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศมาเลเซีย คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมจากจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

นางมูเน๊าะ บูเด็ง อายุ 44 ปี ชาวบ้านจาก อ.แว้ง จ.นราธิวาส เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียมานานกว่า 15 ปี โดยเริ่มต้นจากการชักชวนของเพื่อนบ้านให้ไปทำงานในร้านต้มยำกุ้งที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

 

สาเหตุที่นางมูเน๊าะต้องเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เป็นเพราะงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หายาก ประกอบครอบครัวนับถือศาสนาอิสลามและสามารถสื่อสารภาษามลายูได้ดีกว่าภาษาไทย  เธอจึงปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซียที่มีภาษาและศาสนาคล้ายคลึงกันได้ไม่ยาก

แถวบ้านหางานยาก อีกอย่างเราพูดไทยไม่ค่อยถนัดก็เลยต้องไปทำงานที่มาเลเซีย เพราะที่นั่นใช้ภาษามลายู

ส่วนอีกคนหนึ่งที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย คือ นายมาฮัมหมัดอาฟิก สามะแอ ลูกชายอายุ 24 ปีของนางมูเน๊าะ เขาเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่อายุ 16 ปี หลังออกจากโรงเรียนขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะครอบครัวไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนต่อ

 

นายมาฮัมหมัดอาฟิกต้องออกมาช่วยครอบครัวหารายได้แต่ด้วยวุฒิการศึกษาที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับของไทย ทำให้การหางานทำในประเทศไทยเป็นเรื่องยาก เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปเป็นแรงงานก่อสร้างที่ประเทศมาเลเซียกับนางมูเน๊าะผู้เป็นแม่

แม่ไม่อยู่บ้าน แม่ต้องไปทำงานที่มาเลเซีย แล้วก็ไม่มีเงินไปโรงเรียน ก็เลยออกไปทำงาน
แถวบ้านก็ไม่มีงานทำ หางานยาก ถ้าจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ ก็ต้องมีวุฒิการศึกษา อย่างน้อยต้องจบม.3 ก็ยังดี

นอกจากนางมูเน๊าะ และนายมาฮัมหมัดอาฟิกแล้ว ในครอบครัวยังมีสมาชิกอีก 2 คน คือ สามีและหลานชายของนางมูเน๊าะที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่เดิมทั้งหมดถือเป็นกำลังหลักในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทางการมาเลเซียประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศ ทำให้ทุกคนว่างงานพร้อมกัน ครอบครัวนี้จึงลำบากไม่น้อยในสถานการณ์เช่นนี้

 

ข้อมูลจากผู้ที่ให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซียไม่ได้มีเพียงแรงงานในร้านต้มยำกุ้งเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอื่น ๆ เช่น แรงงานประมง แรงงานภาคเกษตร หมอนวด สถานบันเทิง รวมถึงผู้ที่เดินทางไปเรียนหรือแต่งงานที่ประเทศมาเลเซีย

คาดการณ์ว่า คนไทยทั้งหมดที่อยู่ในประเทศมาเลเซียทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายอาจมีมากถึง 200,000 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง