อย่าชะล่าใจ! เช็กสัญญาณ "เนื้องอกสมอง" ต้องรักษาทันที

สังคม
29 มิ.ย. 63
14:36
2,802
Logo Thai PBS
อย่าชะล่าใจ! เช็กสัญญาณ "เนื้องอกสมอง" ต้องรักษาทันที
กรมการแพทย์ เผยเนื้องอกในสมองเป็นโรคที่พบได้คนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง บางรายพบความผิดปกติจากพันธุกรรม โดยพบเนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดาได้บ่อยกว่าเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง

วันนี้ (29 มิ.ย.2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื้องอกในสมอง คือเนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมอง หรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่างๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมองไปรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ และอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก

เนื้องอกในสมองมี 4 ระดับ โดยวัดตามลำดับการเจริญเติบโตของเนื้องอกและโอกาสในการกลับมาเป็นอีก แม้ได้รับการรักษาแล้ว แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. เนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา เป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หายหรือมีขนาดเล็กลงได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา
  2. เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย เป็นเนื้องอกอันตราย มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติคือ เซลล์มะเร็ง อาจเกิดบริเวณสมอง หรือเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นแล้วลามเข้าสู่สมอง เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตเรื่อยๆ ไม่สามารถควบคุมได้ และมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก

สารพันธุกรรมเซลล์สมองผิดปกติ-เซลล์กลายพันธุ์

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของเนื้องอกในสมอง เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลล์สมอง หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์ ซึ่งจะทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตในอัตราที่ผิดปกติ เนื้อเยื่อที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติเหล่านี้จึงก่อตัวเป็นเนื้องอกบริเวณสมอง สร้างความเสียหายแก่สมองและระบบประสาท หรืออาจเกิดจากมีเซลล์มะเร็งที่อื่นแล้วลามเข้าสู่สมองทางกระแสเลือด

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่เฉพาะเจาะจงในการป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกในสมอง แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง ได้แก่ อายุการได้รับรังสีอันตรายเข้าสู่ร่างกาย ประวัติบุคคลในครอบครัวที่เคยมีเนื้องอกในสมอง ซึ่งขณะนี้แนวทางการรักษาเนื้องอกในสมองมีอยู่ 3 วิธี คือ การผ่าตัด ฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะเลือกแนวทางรักษาจากอาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการและมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งของสมองที่ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของร่างกาย อาจเพียงแค่ติดตามอาการเพื่อดูว่ามีการขยายตัวของเนื้องอกเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงค่อยทำการรักษา

แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่พอสมควรและทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกออก ในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้วพบว่าเป็นเนื้อร้าย อาจต้องทำการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

สัญญาณเตือนจากร่างกาย

หากมีสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีเนื้องอกในสมอง เช่น อาการปวดศีรษะเรื้อรังที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการอ่อนแรงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาการชัก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาอย่างทันท่วงที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง