เปิดห้องเรียนจัดการขยะพลาสติกในทะเล​ ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก

สิ่งแวดล้อม
30 มิ.ย. 63
11:20
892
Logo Thai PBS
เปิดห้องเรียนจัดการขยะพลาสติกในทะเล​ ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก
AIT ร่วมกับ ม.รามคำแหง​ เปิดห้องเรียน​ ป.โท​ วิชาจัดการขยะพลาสติกในทะเล​ ให้​ นศ.ลงพื้นที่จริง​ สำรวจตลาดอาหารทะเลและเก็บตัวอย่างเข้าห้องแล็บ​ศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล หวังคนรุ่นใหม่ลดผลกระทบมลพิษทางทะเล

วันนี้​ (30​ มิ.ย.2563)​ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.ธรรมรัตน์​ คุตตะเทพ​ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการขยะพลาสติกในทะเล​ (Marine​ Plastics​ Abatement หรือ​ MPA)​ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (SERD) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย​ (AIT)​ และ​ ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน รองคณบดีฝ่ายวิชาการเเละวิจัย คณะวิทยาศาสตร์​ มหาวิทยาลัยรามคำแหง​ ร่วมกับนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล​ ลงพื้นที่​ จ.ระยอง​ สำรวจความพร้อมในรายวิชา​การจัดการขยะพลาสติกในทะเล​ โดยมุ่งเน้นผลกระทบของขยะพลาสติกกับระบบนิเวศในทะเล​


ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์​ เปิดเผยว่า​ ก่อนหน้านี้กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล​ คณะวิทยาศาสตร์​ ม.รามคำแหง​ เคยลงพื้นที่สำรวจ​ขยะพลาสติกในทะเล​ และการปนเปื้อนของพลาสติกขนาดเล็กในอาหารทะเล​บริเวณชายฝั่งทะเลเกือบทั้งประเทศ หลังจากพบว่าขยะพลาสติกเมื่อลงไปในทะเลจะค่อยๆ​ เล็กลงเป็นไมโครพลาสติก​ และนาโนพลาสติก​

ทีมวิจัยได้ศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในน้ำ​ ดินตะกอน​ และในสิ่งมีชีวิต​ ซึ่งมีทั้งในปะการัง​ แพลงตอน​ หอยฝาเดียว​ ปู​ กุ้ง​ และปลา​ รวมไปถึงการวิจัยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน​ ทั้งกะปิ​ ปลาแห้ง​ กุ้งแห้ง​ หมึกแห้ง​ ซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อน​ แต่มากน้อยแตกต่างกันตามปัจจัยฤดูกาล​และกระบวนการผลิต​

เป้าหมายสำคัญในการศึกษาวิจัยว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดไมโครพลาสติกในสิ่งมีชีวิตหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ​ ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ โดยสถาบันอื่นๆ ทั่วโลกก็คงมีเป้าหมายเดียวกัน


ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์​ ระบุอีกว่า ขณะนี้ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงดำเนินการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางการลดไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์อาหารทะเล แต่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ด้วยปัจจัยที่ซับซ้อน อย่างกรณีกะปิ ที่ต้องศึกษาปัจจัยต่างๆ ทั้งชนิดกุ้งที่นำมาผลิตอาจแตกต่างกัน ระยะเวลาในการเก็บกุ้ง โดยต้องลงไปดูถึงกระบวนการผลิตกะปิ เพื่อหาวิธีการดึงไมโครงพลาสติกออกมาให้ได้ พร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยด้วย

หากไมโครพลาสติกเกาะอยู่นอกตัวกุ้งก็อาจจะล้างออกได้ แต่หากกุ้งกินเข้าไปในตัว กระบวนการดึงไมโครพลาสติกออกมาก็เป็นไปได้ยาก นี่ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและรอให้เราได้ศึกษาค้นคว้า เราอาจไม่การันตีให้ผลิตภัณฑ์ประมงซีโร่ไมโครพลาสติกได้ แต่หวังว่าจะช่วยลดปริมาณการปนเปื้อนให้ได้

ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์​​ ระบุว่า แม้องค์การอนามัยโลก​ยังไม่ได้ยืนยันว่า​ไมโครพลาสติกมีอันตราย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานในเชิงวิทยาศาสตร์ชัดเจน​ แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์​ การมีสิ่งปนเปื้อนที่ผิดปกติมาผสมกับสิ่งมีชีวิตย่อมต้องมีความผิดปกติ​ ซึ่งในอนาคตอาจจะสามารถระบุได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงอันตรายของไมโครพลาสติก

 

COVID-19 คนหยุดเที่ยว แต่ขยะพลาสติกไม่ลด

ด้าน ศ.ดร.ธรรมรัตน์​ เปิดเผยว่า​ ช่วง​ COVID-19​ ที่ผ่านมา​ แม้ประชาชนจะลดการท่องเที่ยว​ ทำให้อัตราการก่อขยะต่อคนต่อวันลดลง​ แต่สัดส่วนการก่อให้เกิดขยะพลาสติกกลับเพิ่มขึ้น​ เนื่องจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี​ในช่วงอยู่บ้าน ขณะที่ปัญหาขยะหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อก็กลายเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง​การกำจัดอย่างถูกวิธี​ โดยเฉพาะการทิ้งแบบไม่คัดแยก​ เมื่อ​หลายคนทิ้งปนกัน​ คนมาเก็บขยะก็กลัวติดเชื้อ​ จึงไม่เก็บ​ อีกทั้งยังเป็นขยะที่ขายไม่ได้​ก็ยิ่งทำให้จัดการขยะได้ยากมากยิ่งขึ้น​


การจัดการขยะในไทยที่ผ่านมา​ มีการดำเนินการเก็บขยะดีขึ้นแล้ว​ ทั้งเทศบาลหรือท้องถิ่น​ แต่การแยกขยะจากจุดกำเนิดมีน้อยมาก​ เพราะขยะบางชิ้นก็เปื้อนหรือสกปรก​ บางชิ้นก็ไม่สามารถขายต่อได้​ ทำให้คนเลือกที่จะไม่แยก​ขยะ

เมื่อมีการทิ้งไม่เป็น​ที่​ มีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง​ ขยะพลาสติกที่ตกค้างก็จะค่อยๆ​ เล็กลงเรื่อยๆ​ และไหลลงสู่ทะเลกลายเป็นไมโครพลาสติกไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมในที่สุด

การจัดการขยะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงทั้งกระบวนการ​ ตั้งแต่การลดขยะตั้งแต่แรก คัดแยกจากจุดกำเ​นิด​ การดำเนินการของรัฐ​ในการกำจัด​ รวมถึงการขนย้ายขยะด้วย


ทั้งนี้​ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย​ ได้จัดหลักสูตรปริญญาโท​ 1​ ปี​ สาขาวิชาจัดการขยะพลาสติกในทะเล​ ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากเงินทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาวิจัยผลกระทบของขยะพลาสติกในทะเล​ ซึ่งนักศึกษาจะได้ลงพื้นที่จริง​ เพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลไปตรวจสอบไมโครพลาสติกในห้องปฏิบัติการ​ รวมถึงสนับสนุนให้มีการวิจัยศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก และแนวทางการจัดการขยะพลาสติกทั้งระบบร่วมกับกรมประมงและศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ​โดยหลักสูตรนี้เป็นการมอบทุนเต็มจำนวน​ 100​ ทุน​ ให้ผู้สนใจจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก​ 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง