"อนุดิษฐ์" ตั้งฉายา "นักกู้ฯ" ชี้รัฐบาลจัดการงบฯ ไม่ตอบโจทย์ COVID

การเมือง
1 ก.ค. 63
14:07
266
Logo Thai PBS
"อนุดิษฐ์" ตั้งฉายา "นักกู้ฯ" ชี้รัฐบาลจัดการงบฯ ไม่ตอบโจทย์ COVID
อนุดิษฐ์อภิปรายรัฐบาล กู้เงิน-สร้างหนี้มากกว่า นายกฯ ที่ผ่านมา 28 คน ถึง 18 เท่า ร่างงบฯ ปี 2564 ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจหลัง COVID-19 เพราะมีแต่งบฯ ก่อสร้าง และยังเก็บภาษีต่ำกว่าที่ตั้งไว้เป็นแสนล้าน

วันนี้ (1 ก.ค.2563) เวลา 11.40 น. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปราย (ร่าง) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ระบุถึงความกังวลว่า เนื่องจากการเอ็กซเรย์ (ร่าง) พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 พบว่ารายจ่ายกับรายได้ใกล้เคียงกัน โดยดูจากโครงสร้างงบฯ รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท ชำระคืนต้นเงินกู้ 9.9 หมื่นล้านบาท รวมรายจ่าย 2.625 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ 2.677 ล้านล้านบาท

จี้เลิกระบบรัฐราชการที่ไม่สร้างรายได้

จากการตรวจสอบงบฯ หลังจากยึดอำนาจ โครงสร้างการบริหารประเทศ ไปเพิ่มความเป็นรัฐราชการ ส่งผลให้งบรายจ่ายเพิ่มขึ้น ตัวอย่างจากงบกำลังพลของกองทัพไทยมี 360,000 คน มากกว่าฝรั่งเศส 268,000 คน อังกฤษ 192,660 คน และไทยมีนายทหารยศนายพล 1,400 คน แต่สหรัฐฯ มีไม่เกิน 1,000 คน

สิ่งเหล่านี้เป็นภาระประเทศ ให้เปลี่ยนเป็นรัฐประชาชน เพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะรัฐราชการไม่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ

ภารกิจแรกอยากเห็นการลดจำนวนข้าราชการ เพื่อลดงบประมาณ ลดอำนาจรัฐ สร้างรัฐประชาชนที่จะผลิตภาษีเป็นรายได้ประเทศ

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ส่วนภาครายได้ จากการตั้งว่า มาจากงบจัดเก็บภาษี 2.677 ล้านล้านบาท เชื่อว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้า เพราะนับตั้งแต่ปี 2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารพบว่าต่ำกว่าประมาณการ 1 แสนล้านบาท

นายกฯ สร้างหนี้มากกว่านายกฯคนอื่น 18 เท่า

นอกจากนี้งบฯ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทยยังเพิ่มขึ้น เช่น สัดส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมโยธาธิการและผังเมือง เพิ่มขึ้น 1.27 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องการทำโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่าๆ ไม่ได้ตอบโจทย์โลกหลัง COVID-19

น.อ.อนุดิษฐ์อภิปรายต่อว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลที่เปราะบาง และสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย หนี้สาธารณะมีรวมกัน 6.98 ล้านล้านบาท

ในช่วง 6 ปีรัฐบาลประยุทธ์ กู้เงินรวม 2.168 ล้านล้านบาท หากเทียบกับนายกรัฐมนตรี 28 คน ที่เคยสร้างหนี้เงินกู้ไว้เฉลี่ยคนละ 1.25 แสนล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวสร้างหนี้มากกว่าคนอื่นๆ 18 เท่า ผมให้ฉายาว่า “นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

กรณีมีมติประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูประเทศ และเศรษฐกิจไม่ขยายตัว ตามที่ตั้งไว้ร้อยละ 4-5 อาจจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเกินกรอบความยั่งยืน การคลังที่มีเพดานไม่เกินร้อยละ 60 และจะส่งผลกระทบกับการทำงบฯ ปีถัดไป

5 ปีเก็บภาษีต่ำกว่าที่ตั้งไว้เป็นแสนล้าน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจน่าห่วงทุกมิติ สิ้นปีงบประมาณ 2562 เงินให้กู้ยืมหรือมีหนี้ครัวเรือน 13.4 ล้านล้านบาท ถ้าจีดีพีปี 64 ติดลบร้อยละ 5 หนี้ครัวเรือนจะสูงถึงร้อยละ 85 เป็นตัวเลขที่ฉุดกำลังซื้อของประชาชน

ส่วนการจัดเก็บภาษีต่ำกว่าประมาณการมาตลอด 5 ปีนับแสนล้านบาท แต่การกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบฯ ที่สูงขึ้นและกู้ปี 2564 อีก 6 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะจะพุ่งเป็นร้อยละ 57-60 ตัวเลขนี้หมายถึงรัฐบาลไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม

ดังนั้น วันนี้นายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็น "บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้" ซึ่งหากอนาคตหนี้เต็มเพดานและรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีกจะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ประชาชนไม่มีรายได้ แต่หนี้สูง รัฐบาลจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้อย่างไร การเยียวยาที่จะจบในเดือนนี้จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งขึ้นเป็น 7-10 ล้านคน

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ประชาชนขาดกำลังซื้อและมีหนี้ครัวเรือนสูง รัฐบาลจะสร้างกำลังซื้อให้ประชาชนได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนออกไปจับจ่ายใช้สอย เพิ่มเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการเยียวยากำลังจบในเดือน มิ.ย.นี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยแย่อีก ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูง นายกฯ เตรียมรองรับอย่างไรนอกจากขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

รัฐบาลทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ก่อนวิกฤต COVID-19 และจงใจไม่ปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายงบฯ หลังเกิดวิกฤต COVID-19 แบบนี้คล้ายกับจงใจฮั้วประมูล พบว่ามีหลายรายการส่อไปในทางทุจริต ล็อกสเปกเอื้อประโยชน์พวกพ้องและกลุ่มทุน เหมือนรัฐบาลหาบเร่ เร่ขายงบฯ ให้กลุ่มทุน

นายกฯ แจงจำเป็นต้องใช้งบฯ สร้างสาธารณูปโภค

จากนั้น เวลา 12.16 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจง ยอมรับว่า การประเมินตัวเลขตรงกัน และไม่ตรงกันบ้าง แต่คาดว่าจีดีพีอาจจะลดลงจากสถานการณ์โลก และการเสนองบปี 64 ก็ต้องดูว่ามีอะไรที่ค้างอยู่บ้าง และงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทได้จ่ายไปแล้วในก้อนแรก และกำลังมีงบ 4 แสนล้านบาทที่กำลังเริ่มในเดือนก.ค.นี้ เพื่อใช้ใน 3 เดือนข้างหน้า จะจัดสัดส่วนอย่างไร ต้องมีกรอบและไส้ในมีแผนรายละเอียดที่ออกมา และรัฐบาลก็คำนึงถึงความห่วงใยไม่ต่างกัน

แต่ต้องกลับไปทบทวนงบปี 63 มีอะไรอยู่บ้าง งบเงินกู้ เยียวยาและฟื้นฟู เพื่อให้ธุรกิจ ขนาดกลางขนาดย่อมและธุรกิจขนาดใหญ่ รัฐบาลก็ดูแลทั้งหมด แต่มาตรการวันข้างหน้า รัฐบาลเตรียมเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่น การลงทุนรถไฟฟ้า การลงทุนอีอีซี การลงทุนใน 10 จังหวัดชายแดน ทำอย่างไรให้การลงทุนฟื้นตัว เพราะเป็นเรื่องอนาคต

ถ้าย้อนกลับไปมีรัฐบาลไหนเคยวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยากให้รู้ว่ารัฐบาลมองอนาคตและแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ทั้งหมดเป็นงานที่ยาก เพราะไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่ต้องลงมือทำด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าแผนงานโครงการจะต้องมีรายละเอียดมากกกว่านี้ ในแต่ละกระทรวง กรม รัฐบาลต้องคัดกรองว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ถ้าไม่เข้าล็อกก็ไม่ผ่านไม่อนุมัติ เขาถึงเรียกว่าการบริหารที่เอาใจใส่ การบริหารที่ใช้สติปัญญา พูดแล้วต้องทำ หลายอย่างยังไม่สมบูรณ์”

ส่วนการตั้งฉายา พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า "เราเคยเป็นทหารเหมือนกันน่าจะเข้าใจดี ท่านตั้งฉายามา ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะก็ไม่อยากตั้งฉายาท่าน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง