“อุตตม” ยัน COVID-19 กระทบปากท้อง-เร่งเยียวยา 30 ล้านคน

การเมือง
1 ก.ค. 63
18:29
442
Logo Thai PBS
“อุตตม” ยัน COVID-19 กระทบปากท้อง-เร่งเยียวยา 30 ล้านคน
รมว.คลัง ลุกขึ้นโต้ฝ่านค้านที่ระบุว่า COVID-19 ไม่กระทบเศรษฐกิจ ชี้เวิลด์แบงก์ยันทำให้เกิดภาวะช็อกของเศรษฐกิจโลก ในไทยกระทบทุกกลุ่มกว่า 30 ล้านคน รัฐบาลเร่งเยี่ยวยาอย่างเต็มที่

วันนี้ (1 ก.ค.2563) หลังจากบรรดา ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายตลอดทั้งช่วงบ่ายที่ผ่านมา เวลาประมาณ 17.30 น. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงยืนยันว่า COVID-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยธนาคารโลกได้ระบุว่า COVID-19 ก่อให้เกิดสภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ เสียหายเป็นวงกว้าง ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนตั้งแต่ พ.ศ.2413 หรือ 150 ปีที่ผ่านมา

รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และเร่งรัดดำเนินการเพื่อบริหารจัดการการแพร่ระบาด COVID-19 โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และเรื่องปากท้องของประชาชน ด้านเศรษฐกิจ ทั้งการเร่งเยียวยาประชาชน ครอบคลุมอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง รวมกว่า 30 ล้านคน

นายอุตตมกล่าวว่า รัฐบาลยังมีมาตรการการเงิน เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดผลกระทบการเลิกจ้างงาน โดยในอนาคตหลัง COVID-19 จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างมาก รัฐบาลมีแผนสนับสนุนผู้ประกอบการ เน้นแผนกิจกรรมระดับพื้นที่-ชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาสใหม่ให้ประชาชน

สิ่งที่ทำวันนี้คือเร่งประคับประคองเศรษฐกิจในประเทศ รัฐบาลมีแผนผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุคต่อไป ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่อไปหลัง COVID-19

มาตรการจากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งสินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด ส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตั้งตัวได้ หรือโครงการสินเชื่อซอฟต์โลนพิเศษต่างๆ ได้เตรียมไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่วันนี้

นายอุตตมกล่าวต่อว่า เรื่องวินัยการเงินการคลังรัฐบาลดูแลอย่างใกล้ชิด และดูแลให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์ วันนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ส่วนเรื่องงบฯ COVID-19 หน่วยงานดูแลอย่างใกล้ชิดและรัดกุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพของผู้ประกอบการ

ส่วนเรื่องการจัดเก็บรายได้ รัฐบาลมีกลไกที่ใช้อยู่เป็นประจำ โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ภาษีอากร มีการจัดเก็บต่ำกว่าเป้า ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาได้บริหารจัดการให้การจัดเก็บรายได้ภาษีอากรเข้าเป้ามากขึ้น

จากก่อนหน้านี้การจัดเก็บภาษีอากรที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นผลจากการปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรงเหลือไม่ถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีรายได้จากแหล่งอื่น เพื่อทดแทนรายได้ภาษีอากรที่ลดลงบางช่วงเวลา ทำให้การจัดเก็บรายได้ในภาพรวมสูงกว่าประมาณการ มาตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง