ย้ายออก! ห่วงลูกถูกบูลลี่ หลังครูตัดผมแหว่งหน้าเสาธง

สังคม
8 ก.ค. 63
12:01
3,800
Logo Thai PBS
ย้ายออก! ห่วงลูกถูกบูลลี่ หลังครูตัดผมแหว่งหน้าเสาธง
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สั่งสถานศึกษาประชาพิจารณ์การวางระเบียบการไว้ทรงผมนักเรียน เพื่อหาข้อยุติ หลังระเบียบบังคับใช้ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่บางแห่งยังยึดตามระเบียบเดิม ขณะที่กรณีผู้ปกครองจ.ศรีสะเกษ โวยครูตัดผมลูกสาวแหว่ง ขอลาออกแล้วหลังถูกวิจารณ์หนัก

กรณีแม่ของเด็กหญิงชั้น ม.3 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งจ.ศรีสะเกษ โพสต์เรื่องครูตัดผมลูกแหว่ง ขณะยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ จนสร้างความอับอาย และแม่อ้างว่าครูทำเกินกว่าเหตุ จนสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และมีการโพสต์กลับในลักษณะว่านักเรียนไม่ทำตามระเบียบ

วันนี้ (8 ก.ค.2563) นายชูชาติ แก้วนอก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษา เขต 28 พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนและครูฝ่ายปกครอง เดินทางพบผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังถูกครูฝ่ายปกครองหนีบผมสั้นหน้าเสาธง เนื่องจากไว้ผมผิดระเบียบโรงเรียนที่ไม่ให้ไว้เกินติ่งหู ต่อมาผู้ปกครองนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าครูทำเกินกว่าเหตุ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

นายชูชาติ กล่าวว่า วันนี้นำผู้บริหารสถานศึกษาและครูฝ่ายปกครองเข้าขอโทษผู้ปกครองนักเรียน ที่ทำเกินกว่าเหตุ พร้อมกำชับผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตรับผิดว่าให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงศึกษาธิการที่ออกมาล่าสุด ที่ให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในกฎกระทรวง

ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองจะย้ายนักเรียนไปเรียนที่อื่น เรื่องนี้ได้ขอความร่วมมือผู้ปกครองให้ชะลอไว้ก่อน เนื่องจากใกล้จะจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว โดยให้ครูปรับให้นักเรียนเรียนออนไลน์สลับกับเรียนที่โรงเรียนแทน

ปลัด ศธ.สั่งทำประชาพิจารณ์ทรงผมนักเรียน

นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้แจงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนปี 2563 ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้หยุดบังคับ หรือเลิกตัดผมนักเรียน หลังจากมีการกล้อนผมนักเรียน ทำให้เกิดความอับอาย และถูกมองว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการรุนแรง

ขณะนี้ได้ทำหนังสือสั่งการไปยังสถานศึกษาทุกสังกัดให้ปฏิบัติตามระเบียบเรื่องการไว้ทรงผมนักเรียน โดยเฉพาะที่กำหนดขึ้นมาใหม่ในข้อ 5 เรื่องห้ามดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดหรือเครา และห้ามตัดแต่งผมเป็นลวดลาย

นอกจากนี้ในส่วนของ 7 ที่ให้คณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น เพื่อวางระเบียบการไว้ทรงผมนักเรียนให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่มาจากผู้อำนวยโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ซึ่งอาจเข้มว่าระเบียบกระทรวงฯ

 

ส่วนการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิด มีระเบียบกระทรวงศึกษาปี 2548 ให้ทำได้ 4 สถานคือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรงหรือกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ ต้องคำนึงถึงอายุและพฤติการณ์ประกอบด้วย เพื่อให้เด็กสำนึก ในความผิด ดังนั้นการตัดผม กล้อนผม หรือ ตี ไม่สามารถทำได้

สำหรับกรณีกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เรียกร้องให้ยกเลิกทรงผมนักเรียนและจะร่วมกันฟ้องศาลปกครอง กรณีระเบียบทรงผมขัดรัฐธรรมนูญ และละเมิด สิทธิมนุษยชนลิดรอนอธิปไตยเหนือร่างกายนั้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มองว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ยืนยันว่าการระเบียบดังกล่าวผ่าน การรับฟังความเห็น จากทุกภาคส่วน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตัดผมหน้าตึก ศธ. ทวงความชัดเจนกฎไว้ทรงผมนักเรียน

 

 



ขณะที่นักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ไปเรียน สภาพจิตใจค่อนข้างย่ำแย่ เนื่องจากถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากรุ่นพี่ค่อนข้างหนัก โดยยังคงยืนยันจะย้ายสถานศึกษาเช่นเดิม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง