อิเหนาการ์ดตก

การเมือง
9 ก.ค. 63
10:49
784
Logo Thai PBS
อิเหนาการ์ดตก
ภาพนักการเมือง ร่วมงานวันชาติสหรัฐฯ ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ พร้อมเสียงวิจารณ์การไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าใหญ่ คือคนในรัฐบาล และ ศบค. เจ้าของวลี “การ์ดอย่าตก” แต่กลับถูกมองว่า “การ์ดตก” เสียเอง

“ดราม่าเยอะ” เป็นคำตอบแรกจากปาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ก่อนการประชุม ครม. 8 ก.ค. กรณีปรากฏภาพไปร่วมงานฉลองวันชาติสหรัฐฯ ในสถานทูตสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกิจกรรม และถ่ายภาพกับบุคคลต่างๆ แต่ไม่สวมหน้ากาก และไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

อย่างไรก็ตาม หลังจบการประชุม ครม. นายอนุทิน ออกมาให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้ง

ช่วงร่วมงานผมสวมใส่หน้ากาก แต่ได้ถอดในช่วงถ่ายภาพ และจังหวะช่วงที่จำเป็นของสถานการณ์ ส่วนตัวขอน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ยอมรับว่า ผมเองการ์ดตก ดังนั้นจึงขอโทษที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างไม่ดี และขออภัยกับเรื่องที่เกิดขึ้น สัญญาว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก ขอให้ประชาชนอย่าการ์ดตกเหมือนผม

งานในวันนั้น ยังมี พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รวมถึงนักการเมืองอดีตนักเรียนสหรัฐฯ ไปร่วมงานนี้ อย่างนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

แม้จะมีฝ่ายการเมืองหลายขั้ว และต่างไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข แต่เป้าใหญ่ที่ถูกวิจารณ์หนัก หนีไม่พ้นนายอนุทิน และผู้ช่วยโฆษก ศบค. หน่วยงานพิเศษที่ตอกย้ำคำเตือนสติ “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก” ใส่หูประชาชนในประเทศแทบทุกวันแถลงข่าว ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค อย่าได้ขาดตกบกพร่อง

 

เมื่อปรากฏภาพลักษณะนี้ รัฐบาล และ ศบค.จึงถูกมองว่า “การ์ดตกเสียเอง”

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อเดือนมิถุนายน ช่วงที่เพิ่งผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 โลกออนไลน์ส่งต่อภาพชายคล้าย รมว.สธ. และคณะ นั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกันแบบไม่รักษาระยะห่าง เหตุการณ์นี้ก็ไม่มีคำอธิบายอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน

หลักการของภาวะผู้นำ (Leadership) ระบุองค์ประกอบและบทบาทหนึ่งของผู้นำที่ดี คือ การกระทำตัวเป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างให้ผู้ตามได้ปฏิบัติ

ซึ่งหากตรงกันข้าม ผู้นำพูดอย่างทำอย่าง ย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ผู้ตามจะยอมรับและปฏิบัติตามได้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยถูกสื่อมวลชนประจำทำเนียบ ตั้งฉายาประจำปี 2562 ว่า “อิเหนาเมาหมัด” สื่อความหมายว่าเคยตำหนิเรื่องใดของรัฐบาลในอดีต แต่สุดท้ายกลับมาทำเสียเอง

แต่โรคระบาดนี้เดิมพันสูงกว่าเรื่องการเมือง เพราะมีผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตไปแล้วมากมาย รัฐไทยเองก็ย้ำตลอดถึงข้อปฏิบัติเพื่อให้รอดพ้นจากโรค ไม่นับรวมการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อเนื่องมาหลายเดือน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์มาแล้วมากกว่า 40 วัน

การปฏิบัติตัวอย่างเข้มแข็งเพื่อป้องกันควบคุมโรคของประชาชนและบุคลากรด้านสาธารณสุขระดับปฏิบัติ ย่อมมิใช่เพื่อให้ผู้มีอำนาจสบายใจ และสามารถละเมิดมาตรการที่ถือเป็นข้อตกลงร่วมในสังคมได้เสียเอง

และ รมว.สธ.น่าจะตัดสินใจถูก ที่ออกมายอมรับภายหลัง โดยไม่ให้เรื่องจบด้วยคำว่า “ดราม่าเยอะ” ซึ่งอาจย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองในภายหลังได้อีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง