ศปม.ห่วงแรงงานข้ามชาติพาเชื้อ COVID-19 ซุปเปอร์สเปดเดอร์

สังคม
9 ก.ค. 63
10:53
1,019
Logo Thai PBS
ศปม.ห่วงแรงงานข้ามชาติพาเชื้อ COVID-19 ซุปเปอร์สเปดเดอร์
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ห่วงแรงงานข้ามชาตินำเข้าเชื้อ COVID-19 ระบาดแบบซุปเปอร์สเปดเดอร์ กำชับผู้ประกอบการคัดกรองโรค ปรามอย่านำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย ขณะที่หมอจุฬาฯ เตือนปัจจัยเสี่ยงระลอก 2 ทั่วโลกติดเชื้อก้าวกระโดดหลัก 2 แสนคนต่อวัน

วันนี้ (9 ก.ค.2563) พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะอยู่ในช่วงผ่อนคลายในเฟส 5 แต่ยังไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนระมัดระวังเชื้อโรคที่มาจากทุกทิศทุกทาง และฝ่ายความมั่นคงยังเข้มงวดจริงจัง กับผู้ที่จะเข้ามาในประเทศทุกมิติ ทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศต้องเข้มงวด

ส่วนที่กังวลคือการกลับมาเปิดธุรกิจหรือติดต่อธุรกิจ จึงขอให้ผู้ประกอบการดูแรงงานที่จะกลับมาทำงานให้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบคัดกรองโรคก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาแพร่เชื้อเข้ามาจนเป็นซุปเปอร์สเปดเดอร์ได้

พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า ศบค. เน้นย้ำการปฎิบัติของกองกำลังชายแดน เพื่อไม่ให้ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย โดยทุกหน่วยให้ความจริงจังเรื่องนี้ จึงขอให้ผู้ประกอบการคำนึงในเรื่องนี้ด้วยว่าทุกฝ่ายเป็นห่วง ไม่อยากให้เกิดการแทรกซ้อนของเชื้อโรค นำไปสู่การแพร่ระบาดจนหาที่มาไม่ได้

 

 

3 ปัจจัยเสี่ยงโรคระบาดระลอกที่ 2 

ด้านรศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความห่วงใยถึงปัจจัยเสี่ยง ที่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก 2 โดยเห็นว่าปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

1.การที่คนไทยเชื่อว่าไม่มีผู้ติด COVID-19 ในประเทศไทยแล้ว อาจทำให้บางคนละเลยในการป้องกันการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก การล้างมือ หรือเว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เชื้อกลับมาแพร่ระบาดอีก

2.การใช้บริการรถสาธารณะ ซึ่งจะพบว่า ปัจจุบันไม่เว้นระยะห่าง ซึ่งทางแก้คือหน่วยงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้ ควรใช้วิธีเวิร์กฟอร์มโฮม เพื่อลดจำนวนผู้ใช้บริการรถสาธารณะ

3.การเปิดเรียน วิธีป้องกันคือ นอกจากจะจัดโต๊ะเรียนให้มีการเว้นระยะห่างแล้ว ควรจัดสถานที่เรียนให้อยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทดี เนื่องจากหากอยู่ในสถานที่ปิด เชื้อที่ออกมาจากการไอหรือจาม จะลอยฟุ้งอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน ทำให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น

4.บุคคลจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทย ต้องมีการตรวจคัดกรองและกักตัวอย่างเข้มงวดทุกคน โดยตรวจก่อนเข้าประเทศ 2 รอบ เมื่อมาถึงไทยต้องกักตัวอย่างน้อย 4-6 วัน และตรวจหาเชื้อ ซึ่งหากต้องการความรวดเร็ว ก็สามารถตรวจหาเชื้อโดยวิธีตรวจเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่รู้ผลเร็ว คือรู้ผลอย่างช้าไม่เกินครึ่งวัน

ส่วนการเดินทางเข้าประเทศไทยของบุคคลสำคัญโดยไม่มีการกักตัว ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงที่อาจจะนำ COVID-19 เข้ามาแพร่ในไทย มองว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทุกคนควรปฏิบัติบนมาตรฐานเดียวกัน เพราะแม้บุคคลสำคัญ ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะนำเชื้อมาแพร่ให้แก่นายทหารระดับสูงของกองทัพ และอาจแพร่ต่อไปยังบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้นำประเทศของไทยได้

เตือนอย่าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด้านรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงสถิติการติดเชิ้อCOVID-19 ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีจำนวนเกิน 12 ล้านคนแล้ว โดยหากคิดอัตราการติดเชื้อเพิ่ม จะพบว่า ช่วงแรกจาก มี.ค.ไปเม.ย.ติดเชื้อเพิ่มประมาณวันละ 32,000 คน จาก เม.ย.ถึง มิ.ย.นี้ติดเชื้อเพิ่มประมาณวันละ 100,000 คน และหลัง มิ.ย.เพิ่มถึงวันละ 200,000 คน

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โลกเป็นเช่นนี้ หากยังจะพิจารณาเปิดประเทศเพื่อหารายได้จากการให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ จึงอาจเป็นเรื่องเสี่ยง จำเป็นต้องปิดประตูด้านการท่องเที่ยวไว้ก่อน เพราะศึกครั้งนี้รุนแรงและยาวนาน จำเป็นต้องรักษาฐานที่มั่นให้แข็งแกร่ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชียงรายส่ง 193 แรงงานเมียนมากลับประเทศ

เตรียมปิดด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ชาวเมียนแห่ซื้อสินค้าจำเป็น

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง