จากช่องเด็ก สู่ทีวีเรียนสนุก – รู้จัก ALTV ช่อง 4 ผ่านสายตา ผอ.ไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
จากช่องเด็ก สู่ทีวีเรียนสนุก – รู้จัก ALTV ช่อง 4 ผ่านสายตา ผอ.ไทยพีบีเอส
ทำความรู้จัก “ALTV ทีวีเรียนสนุก” ช่องใหม่ภายใต้พันธกิจของ Thai PBS ผ่านผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

ที่มาที่ไปของ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก ?

ประเด็นที่ 1 ต้องบอกก่อนว่า มันเป็นการทำอยู่บนพันธกิจของสื่อสาธารณะ เพราะว่า Thai PBS หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. มีพันธกิจชัดมากในการสร้างพื้นที่ทางปัญญาให้กับสังคมที่ผ่านมาด้วย Service ที่เรามีคือ Thai PBS ช่องหมายเลข 3 ก็รับพันธกิจนี้มาตลอด 13 ปี แต่ว่า ต้องบอกว่า Thai PBS ถูกคาดหวังจากสังคมเยอะมาก คุณจะต้องมาส่งเสริมบทบาทของการเรียนของกลุ่มเด็ก กลุ่มครอบครัวให้มากกว่านี้ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ และด้วยเนื้อหาต่าง ๆ ที่เราต้องเน้นไปหมด ก็เลยทำให้ช่องหมายเลข 3 ทำพันธกิจเรื่องการเรียนรู้เต็มที่ไม่ได้มาก ไม่ใช่ว่า Thai PBS ลุกขึ้นมาทำ ALTV ในระยะเดือนสองเดือนนี้ แต่ว่าเราก็พัฒนาความพร้อมของเรามาตลอด 13 ปี ก็ตอบโจทย์พันธกิจสื่อสารสาธารณะ

ประเด็นที่ 2 คือ Thai PBS ก็เห็นเป้าหมายร่วม สังคมไทยต้องมุ่งเป้าหมายไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราไม่ได้หมายความว่าการเรียนจะสิ้นสุดแค่ภายในห้องเรียน แต่มันต้องมีช่องทางในการสนับสนุนการเรียนรู้ที่จะทำให้คนอยู่กับการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม เราคิดว่าเราพร้อมที่จะร่วมนำพาสังคมไปสู่เป้าหมายนี้ด้วย และจริง ๆ เราก็เอาเป้าหมายนี้มาเป็นโจทย์ยุทธศาสตร์ใหญ่ของ ส.ส.ท. ตลอดมา

ประเด็นที่ 3 ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้ Thai PBS ทำ ALTV ได้ออกมาเร็วขึ้น อย่างที่บอกว่าเรามีการเตรียมพร้อมอยู่มานาน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน พอมีโควิด-19 แล้วเราเห็นสถานการณ์ล็อกดาวน์ เกิดความพยายามที่จะปรับรูปแบบการเรียนรู้ใหม่แก่เด็ก ๆ เราเลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ Thai PBS ต้องผลักดัน ALTV ออกมาให้ทันกับสถานการณ์ช่วงนี้ อันนี้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นที่ 4 ก็คือให้ย้อนไป อาจจะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการขับเคลื่อนของการปฏิรูปสื่อเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้มันถูกทำมาโดยตลอด และก็มีกลุ่มภาคเครือข่ายทั้งกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มภาคีภาคประชาสังคมที่เกาะติดกันต่อเนื่อง กลุ่มผู้ผลิตสื่อสาร คนผลิตสื่อเด็ก ผู้ผลิตสื่ออิสระ ทุกคนเรียกร้องอยากจะเห็นการปฏิรูปสื่อ แล้วมีมิติของการส่งเสริมสื่อสำหรับเด็กและสื่อเพื่อการเรียนรู้ ดังนั้นอาจจะบอกว่าเหตุผลข้อที่ 4 ก็คือเรามั่นใจว่าเราไม่ได้ลุกขึ้นมาทำแค่คนเดียว เรามีเครือข่าย เรามีองค์กรที่คอยสนับสนุนเรามาโดยตลอด ทั้งด้านเนื้อหาและด้านการขยายผลที่เรียกว่า ดูทีวีแล้วมีของจริงให้ดู เพราะว่าอย่างที่บอก ทำทีวีเรียนรู้จะนั่งดูเฉย ๆ ไม่ได้ มันเป็นแค่ Passive ไม่ใช่ Active เรามีเครือข่ายค่อนข้างพร้อม เรามีผู้สนับสนุนของรัฐ เช่น กสทช. สพฐ. กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งตัว Thai PBS สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามั่นใจว่าเรามีความพร้อมที่จะทำเรื่องนี้

แสดงว่า Thai PBS มีความพร้อมในการทำช่องทีวีเด็กมาโดยตลอด ?

ไม่ขนาดนั้นค่ะ แต่มีความใส่ใจ แล้วก็มีความตระหนักอยู่ว่ามันเป็นพันธกิจของสื่อสาธารณะ หรือจะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เราถูกคาดหวังเรียกร้องจากสังคม เมื่อประมาณปี 2557 ผู้บริหารในยุคนั้นได้พัฒนา Proposal ทีวีช่องเด็กขึ้นมา มันไม่ใช่ทีวีเพื่อการเรียนรู้ จนได้พัฒนาเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการเพิ่มเติม จนถึงปี 2560 พี่เป็นผู้บริหารปีแรก เราก็ได้หยิบ Proposal ขึ้นมาปัดฝุ่นแล้วทำต่อ แต่ต้องบอกว่าเมื่อหารือร่วมกันกับฝ่ายนโยบายของเราต่าง ๆ แล้วก็ดูจากสถานการณ์ Media Disruption ตอนสถานการณ์ปี 2560 มันเกิด Media Disruption ทีวีดิจิทัลที่เป็นช่องเด็ก ตอนนั้นก็อยู่ในภาวะที่ร่อแร่ Thai PBS เองก็พิจารณา Thai PBS เองก็ไม่ได้จะทิ้งพันธกิจของทีวี ซึ่งทีวีช่องเด็กมันสามารถเปลี่ยนมาเป็นทีวีออนไลน์ได้

ตั้งแต่ปี 2560 - 2561 Thai PBS ค่อนข้างจะพยายามวางแผนให้ไปสู่การพัฒนาสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก แล้วเราก็ตั้งศูนย์พัฒนาการสื่อสารสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัวขึ้นมา เพื่อรองรับตรงนี้ ต้องบอกว่า มันเป็นความตระหนักของ Thai PBS ตลอดมา แต่ด้วยสถานการณ์ Media Disruption ต่าง ๆ ทำให้เราก็เปลี่ยนโฟกัส จากแพลตฟอร์มทีวีมาเป็นแพลตฟอร์มอื่น

แต่มาตอนนี้ ALTV ไม่ใช่ทีวีเด็ก แต่เป็นทีวีเพื่อการเรียนรู้ มันตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ณ ขณะนี้และในอนาคตอีกยาวไกล เราจะต้องมุ่งไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ต้องทวนนิดนึงว่า ถ้าเราไปดูการวิเคราะห์ว่า New Normal จะเปลี่ยนโลกไปอย่างไร ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลยว่า ต้องมุ่งเป้าไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่งั้นเราจะไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่สภาวะ New Normal เพราะเราอาจจะเจอ Disrupt อะไรอีกมากมาย เป้าของโลกกำลังไปทางนี้ ทำให้ทาง Thai PBS มั่นใจว่า ALTV มันกำลังตอบโจทย์นั้น เพราะงั้นมันคือสื่อเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่สื่อสำหรับเด็กและครอบครัว เพราะถ้าเป็นสื่อสำหรับเด็กและครอบครัว มันก็จะคิดว่าจะตอบสนองความต้องการต่อกลุ่มเป้าหมายสำหรับเด็กและครอบครัว เพราะงั้นเราพยายามจะออกแบบเนื้อหาใหม่ให้มันนำไปสู่ระบบนิเวศใหม่ที่ว่าการเรียนรู้มันต้องมีทั้งเด็ก มีทั้งครู มีทั้งผู้ปกครอง ทั้งชุมชนและทั้งสังคมมาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน

มีการนำทีวีต่างประเทศมาปรับใช้กับ ALTV หรือไม่ ?

มากมายเลย ไม่ว่าจะดูของ BBC เองเขาก็มี CBBC ที่เป็นเด็กโตหน่อยมี CBeebies ที่เป็นเด็กเล็ก เขามี Bitesize ที่ออกแบบมาเพื่อรับกับหลักสูตรการเรียนโดยเฉพาะ BBC ก็มีคำว่า Homeschooling หมายความว่า เนื้อหาของ Bitesize จะตอบโจทย์การเรียนแบบที่บ้าน เราดูพวกแบบนี้เยอะมาก เราดูของเกาหลี เราดู PBS ของอเมริกาและอีกหลาย ๆ ที่ ทำให้เรานำมาออกแบบ ALTV และรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคีเราที่เป็นนักการศึกษาทั้งหลาย จะบอกว่าเทรนด์การศึกษาบ้านเราเองก็เป็นเรื่องนี้กันหมดแล้ว ไปในเรื่องของ Active Learning มันก็ทำให้เรามั่นใจว่าเรามาทางที่ถูกต้องแล้ว

ทำไม Thai PBS ต้องโฟกัสคำว่า Active Learning มากเป็นพิเศษ ?

เพราะมันคือความจำเป็นที่เราคิดว่าผู้เรียนต้องเปลี่ยน เราจะเป็น Passive Learning ทุกวันนี้ไม่ได้แล้ว เด็กก็ไม่ได้นั่งอยู่กับที่แล้วรอครูมานั่งสอน ภาวะโควิด-19 พิสูจน์แล้วว่า แม้แต่การศึกษาเองก็ถูก Disruption ด้วย เด็กเขาก็แสวงหาช่องทางการเรียนรู้ของเขาเอง เพราะฉะนั้นคำว่า Active Learning เราให้ผู้เรียนเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วก็ Active Learning ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เฉย ๆ แต่จะเป็นการที่ได้ออกไปทำด้วยตัวเอง ก็คือการเรียนหรือเนื้อหาสาระเป็นเพียงแค่ตัวจุดประกาย เพื่อให้ผู้เรียนออกไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง แล้วมันมีเป้าหมายอยู่ ไม่ใช่การเรียนเพื่อเอาสาระวิชานั้นไปสอบ แต่ Active Learning คือการทำให้ผู้เรียน เรียนเสร็จแล้วนำไปประกอบอาชีพ หรืออาจจะทำให้ผู้เรียนสามารถ Survivor อยู่ได้ในสังคมและ Active Learning ไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น อาจจะหมายถึงคนที่ออกนอกระบบการศึกษาหรือแม้แต่ผู้สูงอายุ ซึ่งเราไม่สามารถทิ้งสังคมผู้สูงอายุได้เลย

แสดงว่า ALTV จะถูกแยกออกจาก Thai PBS Kids ที่เป็นสำหรับเด็กและเยาวชนใช่ไหม ?

ก็ไม่เชิง คือ Thai PBS Kids เขาก็มีเว็บของเขา และมีศูนย์สื่อสาร เขาทำหน้าที่เป็น Partner ดูแลสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งหมด ALTV ก็ยังมีส่วนในรายการเด็กนะ อันนี้ศูนย์เด็กจะเข้ามาดูแล แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังคงมีพาร์ทอื่น ๆ ที่เป็นเนื้อหาเรื่องการเรียนรู้อีกมาก แต่เราก็ยังไม่ได้ยุบ Thai PBS Kids เพราะว่า Thai PBS Kids เขาก็มีกลุ่มเป้าหมายของเขา ที่เขาตอบโจทย์เรื่องเด็ก

เนื้อหาของ ALTV จะต่างจาก Thai PBS ช่อง 3 อย่างไรบ้าง ?

ช่วง 6 เดือนนี้เราจะรันผังแค่วันละ 14 ชั่วโมง คือ 6 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม ซึ่งตั้งแต่เปิดสถานีมา เราเน้นในส่วนของ Zone รายการ Kids เพื่อเตรียมพร้อมเด็ก ๆ ก่อนไปโรงเรียน แล้วก็จะเน้นคุณครูที่เป็นครูประถมวัยด้วย แล้วก็สักประมาณ 10 โมงกว่า จะเน้นเรื่องสื่อสารเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองและคุณครู ถัดมาอีกเราจะมีกลุ่มรายการที่จะเปิดพื้นที่ให้ครูได้นำนวัตกรรมมาแลกเปลี่ยนกัน นวัตกรรมการเรียนการสอน อะไรต่าง ๆ ใหม่ ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ไกลออกไป ช่วงประมาณเที่ยง ๆ บ่าย ๆ จะนำเนื้อหาสาระวิขา Match Up มาทำใหม่ ให้มันน่าดูมากขึ้น

พอกลับมาเย็น ๆ ก็จะเกี่ยวกับประถมวัย เป็นเด็กโตขึ้น แล้วเราก็ปิดท้ายสถานีด้วยช่วงเวลาครอบครัว โดยเราอยากให้ช่วงประมาณ 6 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม เป็นช่วงที่ครอบครัวเองได้เกิดแรงบันดาลใจ ได้ปรับจูนทัศนคติที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ใหม่ หรือครอบครัวที่ต้องการหาต้นแบบ อยากหาที่ปรึกษา ถ้ามีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ตอบรับสิ่งเหล่านี้ และทั้งหมดนี้ เนื้อหาของเราพยายามอย่างมากเลยที่จะผูกไปกับเรื่องของการถมช่องว่างทางการศึกษา เพราะฉะนั้นเราจะคำนึงถึงเด็กที่เปราะบาง หรือกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย เราพยายามที่จะตอบรับเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มเด็กเหล่านี้ด้วย

ทำไม ALTV ไม่ได้ใช้ชื่อที่พ่วงด้วย Thai PBS ?

เราคิดว่าอยากทำให้ ALTV เป็นคำพูดที่ติดปาก เราก็คิดว่าเราอยากทำให้คนมาสนใจพื้นที่นี้ส่วน Thai PBS เป็นตัวต่อ แต่ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องเป็น Thai PBS Active learning TV แต่จะพูดก็ได้ ไม่เสียหายอะไร แต่ Thai PBS ในฐานะเป็น Corporate Brand ยังอยู่ชัดเจน แต่ Thai PBS ที่ช่อง 3 ก็ยังเป็นอีก Product หนึ่ง เป็น Product พี่ ALTV เป็น Product น้อง ถ้าเทียบความเป็น Corporate Brand มันจะเป็น ALTV by Thai PBS

ทำไม ALTV เลือกจะปิดช่องช่วงเวลาคือ 3 ทุ่ม ?

ครอบครัวเด็กที่ดู คือเราก็คิดว่าเราวิเคราะห์พฤติกรรมคนดู ช่วงนี้เป็นช่วงที่ว่า เราอยากโฟกัสที่กลุ่มเด็ก เราคิดว่ามันเพียงพอต่อการให้สาระตรงนี้แล้ว แล้วก็เนื่องจากเป็นช่วงทดลอง 6 เดือน เรายังอยากลองในเวลาที่เราคิดว่าเราสามารถที่จะรักษาในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีที่จะประเมินตัวเองได้ เราเลยคิดว่าเอาไว้เท่านี้ก่อน แต่ถ้าเราทำช่องถาวรในปีหน้าเราคงต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย

แสดงว่า Thai PBS ไม่ได้มองว่าจะทำ ALTV แค่ 6 เดือนใช่ไหม ?

ไม่เลย ไม่เคยคิดตั้งแต่แรก ตอนที่ตัดสินใจทำช่องนี้ เห็นภาพระยะไกล เพียงแต่ว่าเรายังต้องขอใบอนุญาตอยู่ อันนี้ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับ กสทช. ว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่เราก็เชื่อมั่นว่า กสทช.จะเห็นด้วยและจะพิจารณาให้ใบอนุญาตฉบับจริง ซึ่งเราก็ต้องทำเรื่องต่อ แต่ที่ Thai PBS ต่อให้มันไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มทีวี แต่มันก็ยังเป็นแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกต่อไปเรื่อย ๆ

แสดงว่า Thai PBS จะให้ ALTV เป็นช่องทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชน ?

ก็ตั้งว่าจะให้เป็นตัวขับเคลื่อน เป็นแรงขับสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเรื่องการเรียนรู้ของสังคมไทยด้วย คือเราหวังไกลมากกว่าการเป็นแค่พื้นที่แบน ๆ ที่เอารายการเด็กมาลง มันไม่ใช่ เราหวังให้มันเป็นแรงขับแรงเคลื่อนจริง ๆ

มีการประเมินผล หรือ เรตติ้งการเข้าถึงเด็กได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง ?

มีการประเมินไว้ค่ะ อาจจะเอาข้อมูลเรตติ้งมาดู แต่อาจยังไม่ได้ปรากฎอยู่บนตารางเรตติ้งทั่วไป แต่ให้ทางสถาบันสื่อสารวิชาการออกแบบไว้แล้ว คือเรตติ้งเข้ามารวมประกอบที่จะทำให้เราประเมินสถานการณ์ภาพรวมของตลาดด้วย เราก็ไม่ได้ทิ้งตัวนี้ไป คือมันก็จะวัดทีวีการเรียนรู้กับทีวีธุรกิจ มันไปยืนชนขนาดนั้นคงไม่ใช่อยู่แล้ว แต่เราจะดูเรตติ้งไปเพื่อที่เราจะเข้าใจถึงทิศทางของตลาดผู้ชมด้วย และเราจะประเมินด้วยเครื่องมือสำรวจความพึงพอใจ การให้ค่าคะแนนของประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับ ซึ่งตรงนี้เราเตรียมเครื่องมือทางวิชาการไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นเราจะประเมินความพึงพอใจของภาคเครือข่ายที่ทำงานกับเรา เมื่อมี ALTV แล้วมันทำให้เป้าหมายของเขาในการขยายผลเรื่องการเรียนรู้หมดไปได้จริงหรือเปล่า ก็จะประเมินตามหลักสื่อสาธารณะ เช่น เรื่องของการเข้าถึง เรื่องของประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งดูเรื่องความคุ้มค่าด้วย เพราะนี่คืองบประมาณของประเทศชาติ

งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในแต่ละปี เอามาทำ 2 ช่อง พอเหรอ ?

ซึ่งถ้าเราเอาเงินเป็นตัวตั้งก็คงไม่พอหรอก แต่ถ้าเราเอาความร่วมมือภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันเข้ามาทำหลายอย่าง Return มันไม่ใช่เงิน แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจ ภาคีเขาก็มีข้อมูล มีเนื้อหา มีสื่อของเขา เขาจะช่วยขยายประโยชน์ต่อไปในด้านต่าง ๆ รวมทั้งภาคีที่มีงบประมาณอยู่ก็จะมาสนับสนุนพวก Co-Production ได้ อย่างที่น้องพูดก็คือความคุ้มค่า มันต้องวัดที่ความคุ้มค่าและมูลค่าเพิ่มมากกว่าที่จะไปวัดเรื่องงบประมาณ แต่เราตั้งใจที่จะใช้ทรัพยากรของ Thai PBS อย่างเต็มที่ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

อนาคตหลังจากออกอากาศ ALTV ไปแล้ว เราคาดหวังผลตอบรับอย่างไรบ้าง ?

อย่างน้อยเลยเนี่ย ถ้าสังคมไทยต้องมีช่องนี้ อาจจะไม่ได้มียอดเรตติ้งถล่มทลาย แต่ถ้าสังคมไทยพูดว่า เราอยากมีพื้นที่สื่อนี้อยู่กับเราต่อไป เราประสบความสำเร็จแล้ว

แล้ว Thai PBS ช่องหมายเลข 3 จะปรับอย่างไรต่อไป ?

ในส่วนของช่อง 3 เราจะปรับ Positioning ตัวเองให้เด่นชัดขึ้น โดยทำหน้าที่เรื่องของข่าวสาร แล้วก็การเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนต่าง ๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหาของสังคม อาจจะเล่นบทเป็น Solution Media ที่ชัดเจนขึ้นมาก ๆ เพราะเราเห็นเลยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในกลุ่มต่าง ๆ มันอาจจะมากขึ้น เราคิดว่าสื่อสาธารณะช่อง Thai PBS ช่องหมายเลข 3 ควรจะเล่นบทบาทนี้ เช่น การเป็นแพลตฟอร์มให้กลุ่มความขัดแย้งต่าง ๆ มาหาทางออกร่วมกัน อย่างเรื่อง คอกหอยที่บ้านดอน จะเห็นเลยว่า Thai PBS เกาะติดมาสองปี แล้วพยายามจะเข้าไปทำงานในพื้นที่ โดยดึงทุกฝ่ายมาหาทางออกร่วมกัน

เพราะงั้น Thai PBS จะเน้นบทบาทตรงนี้มากขึ้น เราจะพยายาม คือถ้าที่ว่ามันเชื่อมกันยังไง ก็คือยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา Thai PBS ช่องหมายเลข 3 จะทำหน้าที่เปิดประเด็นเรื่องวาระทางสังคม เช่นเปิดประเด็นเรื่อง โรงเรียนจะเปิดแล้ว ความพร้อมของสถาบันการศึกษาเป็นอย่างไร งบประมาณ นโยบาย มันเป็นธรรมหรือเปล่า จะทำหน้าที่ในการกระตุ้นเตือนไปยังผู้กำหนดนโยบายทั้งหลาย เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาของจริง นี่คือ Thai PBS ช่องหมายเลข 3

ส่วน ALTV จะรับในเรื่องของโชว์โมเดล ถ้าเราบอกว่าโรงเรียนยังเปิดไม่ได้เพราะความไม่พร้อมต่าง ๆ ALTV จะบอกว่า ชุมชนจัดการกันเองก็ได้ แต่จะเอาโมเดลดี ๆ Solution ที่ดีมาเสนอให้ดู ตรงนี้จะเป็นในส่วนของ ALTV ที่จะมารับบทตรงนี้ หรือจะชวนเลย ถ้ายังกังวลใจเรื่องการเอาลูกไปโรงเรียน เราก็พยายามจะเป็นพื้นที่ในการให้เด็กมาเรียนรู้ได้ค่ะ

สุดท้าย อยากจะบอกอะไรถึงคนที่ใจจดใจจ่อ จะดูทีวีช่องใหม่ล่าสุดของ Thai PBS ไหม?

ALTV เป็นพื้นที่เรียนรู้ของทุกคน ก็อยากจะชวนเชิญทั้งผู้ปกครอง ทั้งครู ทั้งเด็ก ๆ ให้มาใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ คิดว่าเสียงสะท้อนต่าง ๆ คำติชมจะยิ่งทำให้ Thai PBS มีการพัฒนาที่จะทำพื้นที่นี้ให้เป็นพื่นที่ที่มีคุณภาพจริง ๆ แล้วก็ขอขอบคุณน้อง ๆ ที่ผลักดันให้พื้นที่สื่อเป็นที่ ๆ มีประโยชน์จริง ๆ ขอบคุณค่ะ

 

บทสัมภาษณ์จาก : ส่องสื่อ https://songsue.co/9627/

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง