THE EXIT : ตรวจพบสารเคมีตกค้างในดินป่าดงชี (ตอน 2)

สิ่งแวดล้อม
12 ก.ค. 63
20:22
4,925
Logo Thai PBS
THE EXIT : ตรวจพบสารเคมีตกค้างในดินป่าดงชี (ตอน 2)
เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ตรวจสอบพื้นที่ป่าดงชีขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตอุบลราชธานี หลังมีข้อร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้บริษัทเอกชนใช้สารเคมีทำลายตอของต้นยูคาลิปตัส เบื้องต้นตรวจสอบพบสารเคมีตกค้างในดิน

ร่องรอยบาดแผลบริเวณผิวหนังส่วนน่องและแขนทั้ง 2 ข้างของชาวบ้าน ต.สร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี คนหนึ่ง ถูกตั้งข้อสังเกตจากเพื่อนบ้านว่าเธอถูกสารเคมีหลังไปเก็บเห็ดในป่าดงชี เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันเธอยังต้องรักษาแผลและเดินทางไปพบแพทย์ตามใบนัด เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ

 

หลังชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการเข้าไปเก็บเห็ดในป่า เจ้าหน้าที่งานสวนป่าดงชี นำป้ายไวนิลติดประกาศบนพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้อุบลราชธานีใกล้อ่างน้ำหนองเหล่าหิน เพื่อกำชับไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปเก็บอาหารป่า ออกมารับประทาน ป้องกันการถูกสารพิษปนเปื้อน

เพื่อให้เกิดข้อชัดเจนว่าพื้นที่ 500 ไร่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตอุบลราชธานี ป่าสงวนดงชี ลักลอบใช้สารเคมีหรือไม่ เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ตรวจสอบร่วมกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการสุ่มเก็บตัวอย่างดิน เริ่มต้นจากตอของต้นยูคาลิปตัส และดินที่อยู่ใกล้ระยะห่าง 1 เมตร

 

นอกจากตัวอย่างดินที่อยู่ใกล้ตอของต้นไม้แล้ว ผิวดินที่มีร่องรอยน้ำขังก็เป็นเป้าหมายหลักในการเก็บตัวอย่าง เพราะหากมีสารเคมีจริง น้ำที่ไหลมาจากที่สูงจะพาสารเคมีที่ปนเปื้อนมารวมตัวกัน ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบเพราะสารเคมีบางชนิดสลายตัวได้ไวตามสภาพแวดล้อม หลังได้ตัวอย่างทั้งหมด 10 จุด เจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจที่ห้องทดลองโดยนำดินที่ได้ทั้งหมดรวมกันและตรวจพร้อมกัน เพื่อหาสารเคมีตามคำกล่าวอ้างของชาวบ้าน

สวนป่าดงชีและสวนป่าหนองเหล่าหิน อดีตกรมป่าไม้จัดสรรพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ แยกบริหารจัดการพื้นที่เป็น "ปีแปลงปลูก" เริ่มแปลงแรก พ.ศ.2526 - 2527 และแปลง พ.ศ.2528 ต่อมา พ.ศ.2548 กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตอุบลราชธานี รับผิดชอบพื้นที่ต่อประมาณ 2,000 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรีให้จัดสรรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพาะปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ

 

ไทยพีบีเอส ประสานผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า พบสารเคมี แต่ยังแยกสารหรือประเภทของสารเคมีที่นำมาใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องส่งให้ส่วนกลางตรวจสอบซ้ำเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะทราบผลได้ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน

สำหรับสารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 บัญชี 1 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ประกอบไปด้วย ลำดับที่ 53 คลอร์ไพริฟอส, ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริฟอส-เมทิล, ลำดับที่ 352 พาราควอต, ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอ และลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์ หรือ บิส (เมทิลซัลเฟต) หลังเป็นประเด็นและถูกร้องเรียน ล่าสุดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เขตอุบลราชธานี ได้ดำเนินการแก้ไขก่อสร้างคันดินกั้นแนวเขตพื้นที่อันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีไหลปนไปกับน้ำ สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านที่อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำหนองเหล่าหิน พร้อมสั่งระงับบริษัทเอกชนที่รับเหมาและเตรียมเรียกสอบดำเนินการเอาผิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : ป่าเปื้อนสาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง