THE EXIT : ยากเข้าถึงความช่วยเหลือ คุกคามทางเพศในรั้ว ร.ร. (ตอน 2)

สังคม
14 ก.ค. 63
20:03
2,037
Logo Thai PBS
THE EXIT : ยากเข้าถึงความช่วยเหลือ คุกคามทางเพศในรั้ว ร.ร. (ตอน 2)
แม้การคุกคามทางเพศในโรงเรียนเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ แต่สำหรับเด็กที่ถูกคุกคามอาจทำได้เพียงระบายในโซเชียลถึงพฤติกรรมครูที่ไม่เคยถูกแก้ไข ศธ.มีกลไกช่วยเหลือ แต่มีความเป็นราชการจนเข้าไม่ถึง ขณะที่กฎหมายอาญาไม่ครอบคลุมการกระทำที่ไม่ใช่การข่มขืนหรืออนาจาร

ไทยพีบีเอสทดลองใช้คำค้นข้อมูลในทวิตเตอร์ติดแฮชแท็กที่มีข้อความสื่อถึงการถูกคุกคามทางเพศในโรงเรียน สิ่งที่พบในทวิตเตอร์ปรากฏข้อมูลเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องราวของนักเรียนหญิงชั้นมัธยม ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงจากนักเรียนศิษย์เก่า และบางคนเป็นนักเรียนปัจจุบัน

ตัวอย่างข้อความจากนักเรียนของโรงเรียงแห่งหนึ่ง สะท้อนว่า พวกเธอถูกคุกคามทางเพศจากครูในโรงเรียนหลายรูปแบบต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการโอบจากด้านหลัง เล่นมุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ รวมทั้งส่งข้อความมาหาผ่านโซเชียลมีเดีย

 

เด็กจำนวนหนึ่งบอกว่า เกิดขึ้นกับนักเรียนหลายรุ่น เป็นสิ่งที่อัดอั้นมานานแม้จะผ่านมาหลายปี จึงใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียสะท้อนปัญหา เรียกร้องให้โรงเรียนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีข้อความระบุว่าอุปสรรคของการแก้ไขปัญหาคือครูบางคนขอให้นักเรียนอย่าเผยแพร่เรื่องนี้ต่อสาธารณะ โดยอ้างถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงโรงเรียน และการเรียนต่อมหาวิทยาลัยของนักเรียน

สถิติจากศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าระหว่างปี 2556-2560 มีนักเรียนที่ถูกครูและบุคลากรทางการศึกษาล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 53 คน

ขณะที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เก็บข้อมูลข่าวความรุนแรงทางเพศจากหนังสือพิมพ์ปี 2560 มีทั้งหมด 317 ข่าว ซึ่งเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 5-20 ปี เป็นกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด จำนวน 187 คน คิดเป็นร้อยละ 60 ซึ่งกลุ่มอายุ 11-15 ปี เป็นช่วงอายุที่ถูกกระทำมากที่สุด ส่วนสถานที่เกิดเหตุในโรงเรียน ห้องเรียน หรือมหาวิทยาลัย มี 17 ข่าว

แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ แต่ไม่ปรากฎเป็นข่าวหรือเป็นคดีความ เพราะบางคนไม่กล้าให้ข้อมูล อับอาย รวมทั้งเกรงกลัวต่อผู้ที่กระทำ โดยเฉพาะเมื่อผู้นั้นมีอำนาจเหนือกว่า

 

ขณะนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อนักเรียนโดยครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2563 สาระสำคัญคือการแก้ปัญหาทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่หลักสูตรการศึกษา สอนเด็กมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ฝึกอบรมและสร้างทัศนคติครูและผู้บริหารโรงเรียนต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ

รวมถึงทบทวนใบประกอบวิชาชีพครูทุก 5 ปีเพื่อสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรม เพราะมองว่าปัญหาการล่วงละเมิดไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวบุคคล และแม้กระทรวงศึกษาธิการจะจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ยังเป็นรูปแบบระบบราชการที่เข้าถึงได้ยาก

 

องค์กรด้านเด็กและสตรี มองว่า ปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนเสมือนถูกซุกไว้ใต้พรม กระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีทั้งมาตรการแก้ไขและป้องกันควบคู่กัน มีมาตรการกำกับความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ที่สำคัญพบว่าครูที่ล่วงละเมิดนักเรียนไม่ได้ถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ และพบว่าบางคนยังคงก่อเหตุซ้ำ

แม้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนปี 2551 กำหนดนิยามการคุกคามทางเพศ ครอบคลุมทั้งการสัมผัสทางกาย การใช้วาจา อากัปกิริยา และพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเพศให้มีโทษทางวินัย แต่สำหรับกฎหมายอาญาแล้วไม่กำหนดความผิดครอบคลุมการคุกคามทางเพศ เว้นแต่เป็นการข่มขืนหรืออนาจาร

การกำหนดนิยามคุกคามทางเพศให้ชัดเจนทางกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่องค์กรด้านเด็กและสตรีขับเคลื่อนมาโดยตลอด เพราะคาดหวังให้สังคมปลอดภัยจากปัญหาคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะในโรงเรียนที่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงทุกคน

เสียงสะท้อนจากนักเรียนเพื่อเรียกร้องความปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ แม้กลุ่มนักเรียนพยายามจะเปิดเผยเรื่องราวเชื่อมโยงไปถึงผู้กระทำผิดและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่วันนี้หลายคนยังคงหวาดระแวงไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะกำลังจะถูกคุกคามซ้ำจากสังคมครูและโรงเรียน ด้วยข้ออ้างการดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อให้ยุติการเรียกร้องปัญหาคุกคามทางเพศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : นักเรียนหญิงสะท้อนถูกครูคุกคามทางเพศในโรงเรียน (ตอน 1)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง