THE EXIT : ธุรกิจอำพรางต่างชาติ (ตอน 2)

อาชญากรรม
16 ก.ค. 63
19:40
1,991
Logo Thai PBS
THE EXIT : ธุรกิจอำพรางต่างชาติ (ตอน 2)
เปิดข้อมูลบริษัท ไถ่ซี ที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการสวมบัตรประชาชน หรือสวมสิทธิ์คนไทย โดยพบว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นมีการขายบริษัทในเครือให้กับกลุ่มผู้สวมสิทธิ์ทั้งที่ผู้สวมสิทธิ์คนนี้เพิ่งจะทำบัตรประชาชนได้ 3 ปี แต่กลับมีธุรกิจใหญ่โตถึง 3,000 ล้านบาท

วันนี้ (16 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทยพีบีเอสตรวจสอบข้อมูลของบริษัท ไถ่ซี ที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการสวมบัตรประชาชน หรือสวมสิทธิ์คนไทย พบว่ามีรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างน้อย 4 คน นำโดย "นายหวัง" ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนี้ หลังจากนำรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่ไปตรวจสอบในฐานข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท ไถ่ซี ไปมีชื่ออยู่ในบริษัทลักษณะเดียวกัน ชื่อบริษัท อัมรินทร์ ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์

จากนั้น ผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ได้ขายบริษัท อัมรินทร์ ให้กับ "นายอาเปา" ซึ่งนายอาเปามีประวัติการทำธุรกิจไม่ธรรมดา เพราะมีธุรกิจอยู่ในมืออยู่แล้ว 2 บริษัท คือ "บริษัท 10 Plus" และ "บริษัท ดียี่" ซึ่งบริษัทแรกดำเนินธุรกิจซื้อขายสินค้าการเกษตร มีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่ 2 เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ทำให้ในปัจจุบัน นายอาเปามีบริษัทใหญ่ในความครอบครองถึง 3 บริษัท

"อาเปา" เป็นใคร ถึงมีธุรกิจมูลค่ากว่า 3 พันล้าน

หลายคนคงสงสัยว่านายอาเปาเป็นใคร ถึงสามารถซื้อธุรกิจใหญ่ 3 ธุรกิจ มูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท จากข้อมูลที่ปรากฏนั้น นายอาเปาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาสวมสิทธิ์บัตรประชาชนที่เพิ่งขอออกบัตรครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2558 ซึ่งเท่ากับว่าเพิ่งได้รับสัญชาติไทย 3 ปี แต่มีธุรกิจในมือมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่านายอาเปาเป็นใคร เป็นนักธุรกิจ นอมินี หรือคนไร้สัญชาติ แต่มีกลุ่มคนที่ไว้วางใจให้เขาบริหารเงินทุนกว่า 3,000 ล้านบาท สัญญาณเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณอันตรายที่มีการพร่องเงินจากธุรกิจใหญ่ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะกลายเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

พบว่ายังมีอีกอย่างน้อย 15 คน สวมสิทธิ์ตั้งบริษัท

ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องย้อนกับไปที่จุดเริ่มต้นเรื่องการสวมสิทธิ์บัตรประชาชนอาจไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะมีกรณีที่อยู่ตรวจสอบกว่า 200 คดี และในปัจจุบัน ไทยพีบีเอสพบว่ามีอย่างน้อย 15 คน ที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับนายอาเปา คือสวมสิทธิ์เพื่อตั้งบริษัท และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายบริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่าหลักพันล้านบาทอย่างแน่นอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : ขบวนการสวมสิทธิ์ สู่อาชญากรรมเศรษฐกิจ (ตอน 1)

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง