เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ คนจนเมือง 2020

สังคม
18 ก.ค. 63
17:02
2,267
Logo Thai PBS
เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ คนจนเมือง 2020
งานวิจัย "คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" ชี้! คนจน ขยับเป็นผู้ประกอบการรายย่อยภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ ท่ามกลางการกีดกัน ด้วยนโยบายพัฒนาที่ไม่รองรับคนจนเมือง

วันนี้ (18 ก.ค. 2563) การประชุมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ที่โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต โดย 7 นักวิจัย สนับสนุนโดยฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.

มีการนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย ทั้ง 5 พื้นที่ ได้แก่ คนจนเมืองยุค 2020 “อ่าน” ความหมายจากการวิจัยเชิงปริมาณ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ม.ธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พลวัตคนจนและชุมชนเมืองในสังคมที่เปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ม.เชียงใหม่, การเปลี่ยนแปลงกลางกระแสธารการพัฒนาของคนจนเมืองอีสาน โดย ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ม.ขอนแก่น, คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ ม.บูรพา, การเปลี่ยนไปของคนจนเมืองสงขลาในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดย รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ม.ทักษิณ และสังเคราะห์ภาพรวมโดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ม.เชียงใหม่

ศ.ดร.อรรถจักร์ ในฐานะประธานโครงการวิจัยฯ นำเสนอภาพรวมของข้อค้นพบสำคัญ ระบุว่า ครอบครัวของคนจนเมืองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอยู่ในภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ มีชุมชนที่กระจัดกระจาย มักทำงานและอาศัยอยู่ไกลกัน มีความมั่นใจสูงขึ้น และพัฒนาตัวเองในภาคการผลิต แต่ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ในชุมชนแบบเดิมก็เริ่มเปลี่ยนไป มีการสร้างเครือข่ายแบบใหม่มีความสัมพันธ์ในหลายระดับ


จากข้อค้นพบดังกล่าว คำว่า “คนจนเมือง” จึงถูกเรียกใหม่เป็น “ผู้ประกอบการรายย่อยภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ” เปลี่ยนความหมายคนจนเมืองเป็นผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้รัฐต้องคิดอีกแบบ และทำให้ชนชั้นกลางรู้สึกว่า เมืองถูกขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มคนเหล่านี้ และมีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองอย่างเสมอหน้า

แต่ปัญหาในปัจจุบัน คือ คนกลุ่มนี้กำลังได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาจากรัฐ ซึ่งเบียดขับให้ไปอยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจน โดยรัฐมองคนจนเมืองเป็นการสงเคราะห์มากกว่า ทั้ง ๆ ที่จากการคาดการณ์ 50% ของจีดีพี มาจากกลุ่มคนรากหญ้าที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ขณะเดียวกันถ้ามองในสัดส่วนแรงงาน 60% มาจากคนจนเมือง การเปลี่ยนความหมายคนจนเมืองจึงไม่ใช่แค่การเล่นคำ แต่หวังให้เปลี่ยนความคิดของคนในเมือง ให้เห็นความสำคัญว่าเมืองขับเคลื่อนได้โดยกลุ่มคนเหล่านี้

นี่เป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคนเมืองที่ได้ต่อรองต่อสู้ เพื่อเลี้ยงชีวิตภายใต้เงื่อนไขของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ ที่กีดกันพวกเขามาโดยตลอด หากแต่พลังการสร้างสรรค์ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ดำเนินมาตลอด 30-40 ปี ได้เปลี่ยนแปลงคุณลักษณะและความหมายของการดำรงอยู่ของชีวิต ที่สำคัญเป็นการสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐไม่ให้ความสำคัญเลยตลอดมา

ด้าน สมสุข บุญญะบัญชา ประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (ACHR) หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ร่วมให้ความเห็นต่อโครงการวิจัยฯ ระบุว่า พลวัตของการพัฒนาในช่วงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาเมืองด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น มีการไล่คนจนเมืองออกนอกเมือง ทำให้เกิดคนจนเมืองขึ้นจำนวนมาก


ยกตัวอย่างเช่นการสร้างรถไฟรางคู่ นับหมื่นครอบครัวถูกไล่ที่เวนคืน จะเห็นได้ว่าการผลักดันให้คนให้กลายเป็นคนจนเมือง ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาเศรษฐกิจตามทฤษฎีน้ำซึมบ่อทราย ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ แล้วจะทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์อย่างคนชั้นล่าง ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริง 

จากข้อค้นพบจากในงานวิจัยว่า คนจนมีรายได้ดีขึ้น อันนี้เป็นคำถามสำคัญ คือ อะไรทำให้รายได้ของพวกเขาดีขึ้น จะเป็นเรื่องของการเข้าถึงการศึกษาหรือไม่ หรือจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือว่ามีองค์กรภาคเอกชนช่วยต่อรองให้เข้าถึงนโยบายสวัสดิการ ซึ่งตรงนี้ หากงานวิจัยสามารถตอบได้จะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีในภูมิภาคเอเชีย

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นในงานวิจัย กล่าวว่า คนจนคืออะไรยังไม่เห็นในงานวิจัย แต่ดูเหมือนว่าจะจัดคนจนในรูปแบบของพื้นที่อยู่อาศัย จึงควรต้องมีการนิยามให้ชัดในงานวิจัย ซึ่งน่าจะยาก เพราะคนจนแตกต่างกันมาก


อีกหัวข้อหนึ่งที่ควรจะทำเพิ่ม ก็คือการก่ออาชญากรรมในชุมชน อาจเป็นสาเหตุให้ต้องถูกไล่รื้อจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเหตุผลของการรื้อป้อมมหากาฬ เพราะอ้างเรื่องของการก่ออาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ในงานวิจัยนี้จะเห็นได้ชัดว่าพูดถึงเรื่องคนจนเป็นเรื่องโรแมนติกเหมือนเขียนนิยายใช้ภาษาสวยงาม เราจำเป็นจะต้องมีท่าทีพิเศษเพื่อกล่าวถึงคนจนเพื่อให้เกิดการยอมรับหรือไม่ 

อันที่จริง ทุกคนมีมิติของความเปราะบาง โครงการบางโครงการก็ทำให้คนจนไปได้เลย หรือวิกฤตโควิดเข้ามา ก็ทำให้หลายคนจนลงไป ความยากจนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสลัม แต่คือความเปราะบางที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร

อีกคำถามที่อยากรู้คือ คนจนที่ลงไปสำรวจเขาเรียกตัวเองว่าคนจนหรือไม่ และอยากดูต่อว่าที่ว่าคนจนมีเงินเพิ่มขึ้น เขามีหนี้สินซับซ้อนขึ้นตามไปด้วยหรือไม่ เพราะมันมีทฤษฎีเรื่องเงินไหลกลับเข้าทุนนิยม

เราอาจจะไม่สามารถมองคนจนในมิติเดียวว่า ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เพราะการพัฒนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริง ๆ คนจนเป็นเหตุของการพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบของการพัฒนา แต่คนเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาด้วย

ขณะที่ ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นโครงการวิจัยกล่าวว่า การเปลี่ยนนิยามคนจนเมืองไปเป็น ผู้ประกอบการรายย่อยภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ อาจเป็นกับดักที่ทำให้นโยบายกลุ่มคนจน ไปไม่ถูกทาง เพราะจริง ๆ ไม่ควรเหมารวม เนื่องจากคนจนมีหลายระดับและมีความหลากหลาย คนจนบางคนก็ไม่สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้


ผศ.ดร.นลินี ยังระบุอีกว่า เห็นด้วยที่ต้องมีความเคลื่อนไหวทางสังคม ให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนจนเมือง งานวิจัยนี้ควรแสดงให้เห็นความหลากหลายของคนจนมากกว่านี้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง