ชี้ปล่อยคนหลุดชายแดน เสี่ยงแพร่ COVID 7 พันคนใน 15 เดือน

สังคม
22 ก.ค. 63
16:36
946
Logo Thai PBS
ชี้ปล่อยคนหลุดชายแดน เสี่ยงแพร่ COVID 7 พันคนใน 15 เดือน
ที่ปรึกษา คร. คาด ระบาดรอบใหม่เกิดครึ่งปีหลัง ส่วน “นพ.ประสิทธิ์” เผยผลวิจัยคิงส์คอลเลจ ติดตามภูมิคุ้มกันคนหายป่วย พบ 17 % ภูมิฯ หาย ด้าน อธิบดีกรมการแพทย์ เผย หากติดเชื้อสูง วันละ 500 คน ระบบยังรับได้

วันนี้ (22 ก.ค.2563) ไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักข่าว Hfocus จัดเวที “Visual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของโควิด-19” โดยวงเสวนาหัวข้อ “แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือการระบาดรอบที่สองของโควิด-19 มี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม

ระบาดรอบ 2 ขึ้นกับ 3 ปัจจัย แต่ไม่รุนแรง

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กล่าวถึง ความเสี่ยงการระบาดรอบสอง ว่า มีโอกาสสูงมากที่จะมีการระบาดรอบสอบในครึ่งปีหลัง แต่อย่าตกใจ เพราะจะสามารถจัดการได้ โดยปัจจัยที่จะทำให้ระบาดรุนแรงหรือไม่ ทางระบาดวิทยามี 3 อย่าง คือ ตัวเชื้อ ตัวคน และสังคม

สำหรับตัวเชื้อนั้น สายพันธ์หลักคือ D 614G มีข่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงอาจไม่มาก ต้องติดตามต่อไป ปัจจัยตัวเชื้อไม่เท่าไหร่ แต่ตัวคนก็สำคัญ ต้องมีมาตรการป้องกันเหมือนเดิม ส่วนปัจจัยสิ่งแวดล้อม เรามีระบบค่อนข้างพร้อมมาก จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องระบาดรอบสอง

“โดยสถานการณ์ปัจจุบันเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ แต่ครึ่งปีหลังจะมีการติดเชื้อในประเทศแบบประปราย รู้ว่าใครติดจากใคร จากนั้นก็จะมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ยังติดตามและควบคุมได้ หากกรณีวิกฤตพบมาก คือมีการติดเชื้อกระจายจำนวนมากเกินความสามารถที่จะรองรับ แต่การระบาดรอบสองนั้น ผมว่าไม่รุนแรง เพราะเราเตรียมพร้อมระบบในการรองรับ” นพ.คำนวณ กล่าว

สหรัฐฯ ยังวิกฤต ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ระบุว่า หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศเตือน ปัจจุบันเป็นจริงหมด ณ วันนี้หลัก 1 ล้านของคนติดเชื้อ วันนี้ใช้เวลา 4 วัน จากเดิมเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา กว่าจะผ่านหลักล้านใช้เวลาเป็น 10 วัน และขอย้ำว่าอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า สิ่งหนึ่งเกิดจากมีการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ตนจะสะท้อนตัวอย่างจากต่างประเทศเพื่อให้เห็นว่า การระบาดของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร เริ่มจากสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ทำลายสถิติแทบทุกสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตหากมองย้อนหลัง 12 วันบางช่วงลดลง แต่ตอนนี้กำลังเพิ่ม โดยบางรัฐของสหรัฐฯ เริ่มประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องอยู่ไอซียู เริ่มมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ

ส่วนบราซิล ทั่วโลกกำลังมองว่า เข้าสู่วิกฤตจริง ๆ ส่วนออสเตรเลียก็พบกลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศเยอรมนี ก็ดีขึ้น แต่ก็กลับขึ้นมา เรียกว่าเวฟที่ 1 ผ่านไปแล้ว และกำลังกลับมาอีก

“ไทยเหมือนวงกลมในกล่องสี่เหลี่ยม และกล่องสี่เหลี่ยมมีหน้าต่างมีประตู ตอนนี้เรามีกลไกในการควบคุมภายในของเราเอง ทั้งใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด เว้นระยะห่าง แต่นอกกล่อง ก็เปรียบเหมือนทั่วโลกเปรียบเหมือนไฟ ย่อมมีโอกาสผ่านเข้ามาทางหน้าต่างและเข้าบ้านเราได้ ที่สำคัญต้องอย่าเปิดหน้าต่าง แต่ก็อาจมีการหลุดรั่วได้ ที่สำคัญเราอย่าเปิดหน้าต่าง หรือเปิดประตูเอง แต่โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

สวมหน้ากาก- ห่างกัน ลดการแพร่เชื้อ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ไวรัส 1 ตัว จะแพร่ไปยังคนอื่นนั้น คนหนึ่งคน หากไม่เจอคนอื่น โอกาสติดเชื้อจะน้อยลง จึงต้องให้อยู่บ้าน แต่ตอนนี้เราเริ่มผ่อนคลาย เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นก็ต้องแลกมา แต่ก็ต้องมีมาตรการควบคุมให้ดี เช่น หนึ่งคนออกไป เจอคน 4 คน แต่หากผมรักษาระยะห่าง ก็จะป้องกันตัวเองได้

และหากผมใส่หน้ากากอนามัย และคน 4 คนก็ใส่หน้ากากอนามัยด้วย ก็ยิ่งลดความเสี่ยงอีก สรุปคือ หากรักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยก็จะลดได้มาก และต้องล้างมือบ่อย ๆ ก็จะยิ่งดี ไม่ต้องรอวัคซีน แต่เราช่วยกันเองได้ หรือแม้แต่ ยาฆ่าเชื้อ ณ ปัจจุบัน ไม่ว่าตัวไหนเราไม่ได้ผลิตเอง มาจากต่างประเทศ ดังนั้น เราต้องช่วยกัน หากคนติดเชื้อเยอะ ๆ และรุนแรงต้องใช้ยาเราจะทำอย่างไร

“ข้อมูลล่าสุดจากคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ติดตามคนไข้โควิด-19 จำนวน 63 คน พบว่า 60 คน มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อติดตามต่อเนื่องพบว่า ภูมิคุ้มกันลดลงและหายไป 17 % ใน 2 เดือน หากเกิดขึ้นจริง ๆ คือ ไวรัสตัวนี้อาจไม่ได้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่เราเคยบอกว่าไม่เกิดเชื้อซ้ำ แสดงว่าอาจไม่ใช่ แต่ที่พูดไม่ใช่ให้ตระหนกตกใจ เพราะในแง่วิชาการกำลังติดตาม อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ทาง รพ.รามาธิบดี พบว่า มี 3 % เท่านั้น ที่มีภูมิคุ้มกัน แต่ศิริราชเคยตรวจในนักศึกษาศิริราชกลับไม่ขึ้น จึงต้องติดตามต่อไป” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

สธ.ยันระบาดรอบ 2 การแพทย์วิถีใหม่รับมือ

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงการระบาดแรก ๆ จุดที่เรากลัวที่สุด คือ การระบาดใน รพ. อย่างเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ได้จัดตั้งคลินิกไข้หวัด ใครมีไข้ ใครกลุ่มเสี่ยงให้แยกไปที่คลินิกไข้หวัด ซึ่ง รพ. ทุกสังกัดมาร่วมกันดำเนินการจัดห้องความดันลบ การเตรียมพร้อมทุกอย่าง

นอกจากนั้น เรายังมี Hospital ที่เอาหอพัก เอาโรงแรมมาทำการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ขณะนั้นมี 600 กว่าเตียง แต่ปัจจุบันปิดหมดแล้ว เพราะไม่มีคนไข้ แต่ขณะนั้นการวางรูปแบบเช่นนั้นถือว่า มีแค่เฉพาะไทยที่ทำลักษณะนี้

กรมควบคุมโรค มีการประมาณการกรณีมีคนเดินทางข้ามชายแดนมา โดยหากเดินทางเข้ามาประเทศ 50 คนต่อวัน ก็จะมีการประมาณการผู้ป่วย 7 พันกว่าคน ใน 15 เดือน ตกเดือนละ 500 คน แต่ระบบการบริการทางการแพทย์เรา เตรียมพร้อมรองรับไว้

อย่างกรณีเตียงรองรับ ปัจจุบันเรามีเตียงรองรับทั้งหมดกว่า 22,052 เตียงทั่วประเทศ แบ่งเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 18,405 เตียง และนอกสังกัดกระทรวงฯอีก 3,647 เตียง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงทั้งหมด 2,471 เตียงทั้งของรพ.รัฐและเอกชน ขณะที่ไอซียูมี 600 เตียง แต่หากเป็นเตียงไอซียูแบบประยุทธ์มีกว่า 1 พันเตียง ดังนั้น ถ้ามีการระบาดระลอกสอง บริการทางการแพทย์จะไม่หยุด ไม่ล็อกดาวน์แน่นอน แต่จะเป็นการแพทย์วิถีใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง