“แฟลชม็อบ” ตกผลึก

Logo Thai PBS
“แฟลชม็อบ” ตกผลึก
3 ข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุม ส่งกลับไปยังฝ่ายการเมืองแล้ว หลังเริ่มการเคลื่อนไหวเมื่อต้นปี และยกระดับการเคลื่อนไหวเข้าสู่การถกเถียงของสภาได้สำเร็จ สำหรับหลักการสันติวิธีแล้ว สภาซึ่งมี “ผู้แทนราษฎร” จะเป็นทางออกสำหรับปัญหาการเมืองรอบนี้ได้หรือไม่

“ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักศึกษามีความชอบธรรม และสามารถทำให้บรรลุถึงปลายทาง แต่ต้องระวังอย่ากดดันจนเลยเถิด หากไปพาดพิงสถาบันหรือเรียกร้องทางการเมืองมากกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้ว จะเกิดความสูญเสียชนิดที่คาดไม่ถึง เพราะประวัติศาสตร์การเมือง 6 ตุลา 2519 เป็นบทเรียนสอนมาแล้ว”

“ต้องไม่เดินเลยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไป” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. อธิบายหลักการนี้ผ่านข้อความสำคัญ ส่งต่อไปถึงกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เคลื่อนไหวชุมนุมอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย พร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ยุบสภา, ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพ และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

ราวกับส่งสัญญาณถึงผู้ชุมนุมคนรุ่นหลัง อย่าคิดว่าสิ่งที่เห็นและเชื่อคือโลกทั้งใบ อย่าคิดว่าไม่มีคนเห็นต่าง และอย่าคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะปล่อยให้ทำอะไรตามใจชอบ

 

ก่อนเกิดโรคระบาด พวกเขารวมตัวกระจายตามสถาบันการศึกษาในรูปแบบ แฟลชม็อบ ซึ่งเหล่านักจัดการชุมนุมต่างยอมรับว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย เนื่องจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จึงถูกมองว่าสามารถใช้เป็น “ฐานที่มั่น” ได้

แต่หลังหยุดพักไประยะหนึ่ง ก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ คือเหตุการณ์คณะทหารและคณะทูตต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศ และถูกตรวจพบคนป่วยโควิด ด้วย “เงื่อนไขพิเศษ” ทำให้คณะต่างประเทศไม่ปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุข สวนทางกับที่ ศบค.บังคับใช้กับคนไทยอย่างเข้มข้น ประกอบการมาตรการด้านสุขภาพอันเข้มงวดจนกระทบปากท้อง สภาพเศรษฐกิจไม่อาจฟื้นตัวได้ทันท่วงที ตัวเลขคนตกงาน ธุรกิจปิดกิจการ ถูกคาดการณ์ตัวเลขแตกต่างกัน แต่ทุกฝ่ายยอมรับว่ามันจะเลวร้ายอย่างไม่เคยเกิดขึ้น

ไม่นับรวมพฤติกรรมที่พวกเขามองว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่มีคำตอบเรื่องการหายตัวไปของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” นักเคลื่อนไหวการเมืองผู้เห็นต่างจากรัฐบาล

 

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อไฟ จุดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 18 กรกฎาคม แม้จะได้แค่ “เกือบ” ปักหลักข้ามคืน หรือสยบข้อครหาว่าไม่สามารถประท้วงยืดเยื้อได้ แต่ก็ยังกลายเป็นต้นแบบของการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ในหลายจังหวัด บางแห่งยกระดับข้อเรียกร้อง จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพิ่มอีก เช่น ตัดตอนอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เคยเป็นข้อเสนอจากภาคการเมืองส่งไปให้ “แฟลชม็อบ” ในช่วงก่อนโควิด แต่วันนี้พวกเขาตอบกลับมาแล้ว

แต่เมื่อมันมาพร้อมกับการ “ยุบสภา” ฝ่ายการเมืองจึงต้องขอจัดลำดับ ด้วยความเชื่อว่า ปัญหาการเมืองเดิมจะกลับมา หากยุบสภาก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ


“คู่กรณีของนักศึกษาคือรัฐบาล ต้องให้รัฐบาลฟัง จะมาเกี่ยงให้สภาฟังมันผิดที่ผิดทาง และข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เรื่องการยุบสภา ใครมีอำนาจยุบ ก็นายกรัฐมนตรี แต่ผมเห็นต่าง จริงๆ รัฐบาลต้องลาออก สภาไม่ได้ทำอะไรผิด”


สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวไว้บางช่วง ระหว่างอภิปรายญัตติเปิดรับฟังความเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา พร้อมย้ำจุดยืนว่า นายกฯ คือคนที่ต้องเข้าไปในสถานศึกษา ไปพบกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อรับฟังความเห็นด้วยตัวเอง ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นการซื้อเวลา

“ท่าน (ส.ส.ฝ่ายค้าน) ไม่เชื่อมั่นในคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เกิดขึ้น หาว่าเตะถ่วงซื้อเวลา สิ่งที่ท่านคิดและพูดออกมา เสมือนกำลังดูถูกอำนาจตัวเองอย่างร้ายแรง เราในฐานะผู้แทนประชาชนแต่กลับไม่ใช้เวทีของสภาในการแก้ปัญหา” ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย

“ผมใช้คำว่ารับฟังความเห็นของทุกฝ่าย หมายถึงเสียงของน้องๆ นักศึกษาเยาวชน 19 ล้านเสียงด้วย สภาแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่ายินดีรับฟังความเห็น ก็อยากให้น้องๆ ฟังเสียงจากสภา ว่าการใช้สิทธิ เสรีภาพ ต้องใช้อย่างชอบธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่หยาบคาย ไม่รุนแรงและไม่จาบจ้วง” อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวสรุปญัตติ

ก่อนสภาฯ ลงมติ 260 ต่อ 178 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา กรรมาธิการประกอบด้วยสัดส่วนคณะรัฐมนตรี, พลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา และเศรษฐกิจใหม่

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทย, ก้าวไกล, เสรีรวมไทย และประชาชาติ ไม่เสนอชื่อร่วม กมธ. ระบุเหตุผลการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ เป็นการเพิ่มขั้นตอน, ล่าช้าและทำงานซ้ำซ้อนกับ กมธ.สามัญ และ กมธ.วิสามัญแก้ไข รธน. รวมถึงข้อเรียกร้องให้นายกฯ ต้องเป็นผู้ตอบคำถามนักศึกษาด้วยตัวเอง

สภาที่มี “ผู้แทนราษฎร” กำลังถูกทดสอบอีกครั้ง กับเป็นหนึ่งในสาม อำนาจรัฐที่เข้มแข็ง ที่สามารถเป็นทางออก แก้ไขปัญหาการเมืองอย่างสันติวิธีได้

จตุรงค์ แสงโชติกุล รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง