พิษ COVID-19 บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ เลิกจ้างพนักงาน 130 คน

เศรษฐกิจ
24 ก.ค. 63
14:54
7,083
Logo Thai PBS
พิษ COVID-19 บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ เลิกจ้างพนักงาน 130 คน
สภาอุตสาหกรรมฯ ส่งสัญญาณให้รัฐเร่งแก้ไขเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดจากพิษ COVID-19 จี้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน เสนอให้ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้าง และลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 ขณะที่โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ใน จ.ชลบุรี ปลดพนักงานระลอก 2 อีก 130 คน

วันนี้ (24 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี  เลิกจ้างพนักงานกว่า 100 คน ซึ่งถือเป็นการปลดพนักงานระลอก 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปลดไปแล้ว 150 คน โดยอ้างเหตุผลจากสถานการณ์ COVID-19 เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ยอดการสั่งสินค้าน้อยลง

โดยพนักงานที่ถูกปลดกะทันหันพากันนั่งทำใจ อยู่บริเวณหน้าบริษัท เนื่องจากเข้าไปทำงานไม่ได้ หลังบริษัทประกาศเลิกจ้างกระทันหัน พร้อมสั่งห้ามเข้า พนักงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว บอกว่าเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ประกาศเลิกจ้างไปแล้ว 150 คน ไม่คิดว่าจะมาเลิกจ้างระลอก 2 ในลักณะนี้อีก 130 คน

แต่ละคนทำงานมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ขณะที่บางคนเกือบ 20 ปี ทำให้ตั้งตัวกันไม่ทัน และทำใจลำบาก เนื่องจากแต่ละคนต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัว

พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง บอกด้วยว่าก่อนหน้านี้บริษัทได้เรียกพนักงานที่ถูกคัดชื่อออกไปหาทีละคน พร้อมให้เซ็นหนังสือเลิกจ้างงาน โดยอ้างเหตุผลเหมือนกันว่า พิษเศรษฐกิจและโรคระบาดโควิด 19 ทำให้ยอดสั่งสินค้าน้อยลง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทไม่เพียงพอต่อการจ้างงานพนักงาน.)

พิษ COVID-19 ธุรกิจขนาดกลางล้ม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.นี้ อยู่ที่ระดับ 80.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 78.4 ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวเป็นเดือนที่ 2 เพราะรัฐผ่อนปรนมาตรการควบคุม COVID-19 สู่เฟส 3-4 ตามลำดับและคาดว่าจะดีขึ้นเมื่อรัฐเปิดเฟส 6

อย่างไรก็ตาม เอกชนยังคงกังวลปัญหาการขาดสภาพคล่องของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) การติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก ที่ยังเพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลให้ แรงงานของไทยประสบภาวะว่างงานในปี 63 มีโอกาสถึง 7-8 ล้านคน ซึ่งการคลายล็อกเฟส 6 ที่ให้ต่างชาติ 4 กลุ่มเข้ามาถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การปฏิบัติต้องเข้มงวดไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะลำบากทันที ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐเร่งแก้ SMEs เข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อซึ่งล่าสุดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปล่อยได้เพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

เอกชนจี้รัฐหั่นเงินสมทบประกันสังคมเหลือ 1%

นายสุชาติ จันทรนาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราวนับตั้งแต่ช่วง ต.ค.2562 -ก.ค.นี้ รวม 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างสูงถึง 896,330 คน และลูกจ้างที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้างจากการปิดกิจการ 332,060 คน

รวมทั้งมีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง และคาดจะมีเพิ่มขึ้นในช่วงส.ค.-ต.ค.นี้ คาดจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบกว่า 3,397,979 คน

ดังนั้นภาคเอกชนขอเสนอมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือและเยียวยา 7 ข้อ อาทิ ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้าง และลูกจ้างเหลือ 1% โดยให้มีผลจนถึง 31 ธ.ค.นี้ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน จากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วันและขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 ส.ค.- 31 ธ.ค.นี้ เร่งอนุมัติปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาท ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง