ภัยแล้งวิกฤต-หลายจว.ปล่อยข้าวยืนต้นตาย น้ำขอดคลอง-บึงบอระเพ็ดก็ไม่เหลือ

สิ่งแวดล้อม
23 มิ.ย. 58
07:59
178
Logo Thai PBS
ภัยแล้งวิกฤต-หลายจว.ปล่อยข้าวยืนต้นตาย น้ำขอดคลอง-บึงบอระเพ็ดก็ไม่เหลือ

ภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤติแล้ว โดยเฉพาะในแถบภาคกลาง ชาวนาหลายพื้นที่ต้องยอมรับสภาพ ปล่อยข้าวยืนต้นตายนับหมื่นไร่ ตั้งแต่ที่สุพรรณบุรี หลังน้ำคลองมะขามเฒ่าแห้งขอด ไปไม่ถึงปลายน้ำ ทั้งที่จัดสรรกันแล้ว ที่อ.เสนา พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ส่วนบึงบอระเพ็ดน้ำแห้งขอด จนทำนาไม่ได้ ขณะที่ประปาหมู่บ้านที่สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ แห้งขอด ชาวบ้าน 130 ครัวเรือนเดือดร้อนหนัก

วันนี้ (23 มิ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนา 4 ตำบลในอ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่รับน้ำต่อจากอ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เดินทางมาเฝ้าดูน้ำที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทองด้วยตัวเอง เพราะถึงกำหนดการจัดสรรน้ำทำนาปีแล้ว แต่สภาพน้ำในคลองกลับแห้งขอด สร้างความผิดหวังให้กับชาวนาหลายคน

อย่างไรก็ตามเพื่อหาข้อยุติการแย่งน้ำในพื้นที่ ชาวนาจึงเรียกร้องให้จัดทำข้อตกลงกติกาการสูบน้ำทำนา ระหว่างชาวนากับกรมชลประทาน และหนึ่งในข้อตกลงคือ ห้ามนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ เพราะจะยิ่งสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

ขณะที่ชาวนาปลายคลอง เรียกร้องให้ชาวนาต้นคลอง เคารพกติกาการสูบน้ำ เพื่อให้น้ำมาถึง แต่ข้าวนาปีในพื้นที่อ.ดอนเจดีย์กว่าหมื่นไร่ กำลังยืนต้นตายเกือบทุกพื้นที่ ชาวนาระบุว่า แม้ภายใน 1 ถึง 2 วันนี้ จะระบายน้ำมาช่วย แต่ก็ช้าไป เพราะข้าวขาดน้ำมานานกว่า 30 วันแล้ว หากกรมชลประทานประกาศให้ชะลอทำนาเร็วกว่านี้ ความเสียหายก็จะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการแย่งน้ำภาคการเกษตร ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากแหล่งน้ำ มีไม่เพียงพอ โดยที่อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ต้นข้าวแห้งตายแล้วหลายหมื่นไร่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพนาข้าวที่แตกระแหง ในอ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา แม้ว่ากรมชลประทานจะปล่อยน้ำมาช่วยเหลือ แต่ชาวนาบริเวณต้นน้ำ พากันสูบน้ำเข้านา ทำให้น้ำไปไม่ถึงพื้นที่ท้ายน้ำ ทำให้นาข้าวในอ.เสนา แห้งตายแล้วหลายหมื่นไร่ ล่าสุดนายอภิชาต โตดิลกเวชต์ ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา ขอให้ชาวนา เห็นใจกันและกัน เพื่อแบ่งปันน้ำอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ที่ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง แม้จะไม่มีน้ำ แต่ชาวนายังคงทำนา เร่งหว่านข้าวนาปี ทั้งที่ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ลดลงอย่างต่อเนื่อง ชาวนากลุ่มนี้บอกว่า ต้องยอมเสี่ยงทำนา เพราะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักของครอบครัว โดยจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อลดการใช้น้ำในระบบชลประทาน

ส่วนที่อ่างเก็บน้ำบ้านวังไทร แหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้านวังไทร ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีสภาพแห้งแล้ง ชาวบ้านกว่า 130 ครอบครัว ไม่มีน้ำใช้ ต้องซื้อน้ำจากพื้นที่อื่น เนื่องจากไม่สามารถสูบน้ำไปผลิตน้ำประปาได้นานนับเดือนแล้ว

เช่นเดียวกับน้ำในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ที่เหลือน้อย จนกระทบกับนาข้าวในพื้นที่ ชาวนาต.เกรียงไกร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ไปตรวจสอบประตูน้ำบึงบอระเพ็ดพบว่า ประตูน้ำที่สร้างอยู่สูงกว่าระดับน้ำของแม่น้ำน่าน กว่า 2 เมตร ทำให้ไม่สามารถผันน้ำ เข้าสู่บึงบอระเพ็ดได้ ชาวบ้านบางส่วนต้องการให้ทุบทำลายประตูน้ำแห่งนี้ เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในหลายจังหวัดภาคเหนือ ขณะนี้ผลผลิตเสียหายอย่างต่อเนื่อง ที่ต.ทรงธรรม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ชาวไร่ต้องถอนต้นมันสำปะหลัง ที่เพิ่งปลูกเมื่อเดือนก่อน หลังยืนต้นตาย เพราะขาดน้ำ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ประเมินว่า หากภายใน 10 วัน ไม่มีฝน นาข้าว และพื้นที่เกษตรอื่นๆ จะเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่

ขณะที่ เช้าวันนี้ (23 มิ.ย.2558) เวลา 08.00 น. กรมชลประทานรายงานว่า ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กรมชลประทานสามเสนอยู่ที่ 1.27 กรัมต่อลิตร ท่าน้ำนนทบุรี ที่ 1.15 กรัมต่อลิตร และสถานีสูบน้ำดิบสำแลที่จ.ปทุมธานี ของการประปานครหลวงอยู่ที่ 0.17 กรัมต่อลิตร ซึ่งยังไม่เกินค่ามาตรฐานการผลิตน้ำประปาให้กับกรุงเทพมหานคร

ขณะที่สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร เตือนเกษตรกรริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี ตั้งแต่เขตบางพลัด บางกอกน้อย ธนบุรี จอมทอง และบางคอแหลม ตรวจสอบค่าความเค็มของน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนนำมาใช้รดต้นไม้ เพราะในช่วงที่น้ำทะเลหนุน ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้สะพานกรุงธนบุรีลงไปจะเค็มเกินค่ามาตรฐาน ที่จะใช้ปลูกพืชได้ที่ 1.2 กรัมต่อลิตร

ส่วนที่เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี จนถนนมิตรสายภาพเก่า ที่ถูกน้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมโผล่พ้นน้ำ หลังระดับน้ำในเขื่อนลดลงมากที่สุดในรอบสิบปี โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้เพียงร้อยละ 18 ของความจุอ่าง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง