ทันตแพทยสภา โต้เลิกใช้ “โคเคน” รักษาฟัน-จ่อสอบคลินิก "บอส"

สังคม
31 ก.ค. 63
12:41
2,206
Logo Thai PBS
ทันตแพทยสภา โต้เลิกใช้ “โคเคน” รักษาฟัน-จ่อสอบคลินิก "บอส"
นายกทันตแพทยสภา ระบุวงการทันตกรรมเลิกใช้โคเคนมานานแล้ว เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เปลี่ยนใช้ยาชาสังเคราะห์ แต่พร้อมให้ข้อมูลตำรวจ รวมทั้งเล็งจ่อสอบแพทย์คลินิกรักษาฟันบอส หากมีการร้องเรียนเข้ามา

วันนี้ (31 ก.ค.2563)  พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยาหรือบอส โดยอ้างว่าสารดังกล่าวเกิดจากการรักษาฟัน ทำให้ตำรวจสั่งไม่ฟ้องคดียาเสพติดว่า โคเคนเป็นสารเสพติดที่มาจากพืชโคคา ในอดีตเคยนำมาใช้เพื่อให้เกิดอาการชาในวงการทันตกรรม แต่พบผลข้างเคียงกับสุขภาพ

ทำให้ความดันโลหิตสูง จนมีผลต่อการทำงานของหัวใจ จึงพัฒนายาชาประเภทอื่นๆ ขึ้นมาเป็นลักษณะของสารสังเคราะห์ ได้แก่ ลิโดเคน เมพิวาเคน อะทิเคน ที่ให้การชาดีกว่า และผลข้างเคียงน้อย ทันตแพทย์จึงเลือกใช้สารนี้ จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้ และหายไป

ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องฤทธิ์ของโคเคนจะอยู่ในร่างกายคน หากมีการใช้เพื่อรักษาฟันจริง นายกทันตแพทยสภา บอกว่า ไม่สามารถระบุได้ว่าจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน เพราะใช้เฉพาะจุด ส่วนตัวยาชาที่เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบ มีใช้ 2 รูปแบบ คือ ป้ายเยื่อบุบริเวณที่ต้องการให้เกิดการชา และฉีดเฉพาะจุด จะออกฤทธิ์ไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

จ่อสอบแพทย์คลินิกรักษาฟันบอส 

ส่วนจะมีสารตกค้างอยู่ในร่างกายหรือไม่นั้น ก็เหมือนกับสารสังเคราะห์ชนิดอื่นที่ตกค้างได้บ้าง แต่ไม่ได้อยู่นานตลอดวัน เช่น น้ำยาบ้วนปาก เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ก็จะพบปริมาณแอลกอฮอล์ตกค้างได้

นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้ตำรวจยังไม่ได้เปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบยาก เพราะปกติทันตแพทย์ จะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เพราะเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ยกเว้นเป็นคดีความตำรวจมีสิทธิ์เรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎ หมายได้

นอกจากนี้พร้อมให้ข้อมูลเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่รักษานายวรยุทธ ด้วยเช่นกันหรือหากมีผู้ร้องเรียน

ขณะที่การใช้โคเคนในประเทศไทย ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติด อนุญาตให้ใช้สารเสพติดบางชนิดในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน โคเคน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และกฎหมาย เพราะมีกลุ่มคนบางกลุ่ม ลักลอบใช้เป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม

เลิกใช้โคเคนทำฟันมานานนับ 100 ปี

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผอ.สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเคยมากกว่า 100 ปีเคยมีการใช้โคเคน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปไกลมาก จึงไม่มีการนำสารโคเคน ที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรมอย่างแน่นอน

ทางทันตกรรมจะใช้สำหรับการรักษาฟันในช่องปากคือยาชา ชื่อว่า Lidocaine เป็นยาชาใช้เฉพาะที่ใช้ในปริมาณที่น้อยมาก และตัวยาจะออกฤทธิ์ไม่เกิน 6 ชั่วโมงก่อนจะหายไปและไม่สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้ ยืนยันว่ายาชาที่ทางทันตกรรมใช้เป็นยาตัวละกลุ่มกับที่ปรากฎตามข่าว

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวนำเสนอเกี่ยวกับโฆษก กมธ.ระบุว่า สารโคเคนที่พบในร่างกายของนายวรายุทธ มาจากการรักษาฟัน ขอให้ทางโฆษกกมธ.และตำรวจผู้ทำคดี เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดที่มาของสาร แต่กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ตั้งขอสงสัยถึงขั้นตอนการรักษาของแพทย์ ดังนั้นทางทันตแพทยสภาอยู่ระหว่างการหารือ และเตรียมแถลงชี้แจงต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอฟันไขคำตอบ "โคเคน" ที่ใช้ทำฟันคนละชนิดกับบอส อยู่วิทยา

ผบ.ตร.ยัน 5 ปีไม่เคยเห็นสำนวนคดี "บอส อยู่วิทยา"

พยานปากเอก พลิกคดี "บอส อยู่วิทยา" ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง