ไทยป่วย COVID-19 เพิ่ม 5 คน ทั่วโลกติดเชื้อแตะ 18 ล้านคน

สังคม
2 ส.ค. 63
11:54
3,510
Logo Thai PBS
ไทยป่วย COVID-19 เพิ่ม 5 คน ทั่วโลกติดเชื้อแตะ 18 ล้านคน
ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ไทยพบป่วยเพิ่ม 5 คน ใน State Quarantine ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 3,317 คน หายป่วยแล้ว 3,142 คน และเสียชีวิตคงที่ 58 คน ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแตะ 18 ล้านคนแล้ว โดยป่วยเพิ่มวันเดียวกว่า 2.5 แสนคน

วันนี้ (2 ส.ค.2563)  ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 5 คน ใน State Quarantine ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 3,317 คน หายป่วยแล้ว 3,142  คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 117 คน และเสียชีวิตคงที่ 58 คน

สำหรับผู้ป่วยใหม่ที่พบนั้น ผู้ป่วยชายอายุ 21 ปี เป็นนักศึกษาเดินทางมาจากรัสเซีย เข้าพักใน State Quarantine ใน กทม. ตรวจพบเชื้อ วันที่ 31 ก.ค. โดยมีอาการป่วย มีไข้ และการรับรสและกลิ่นลดลง ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. และผู้ป่วยชาย อายุ 25 ปี เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซีย เข้าพักใน State Quarantine ใน จ.ชลบุรี พบผู้ป่วยในเที่ยวบินเดียวกัน 3 คนก่อนหน้านี้ ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 พบเชื้อแต่ไม่มีอาการ


ผู้ป่วยหญิง อายุ 31 ปี เดินทางมาจากบาห์เรน เข้าพักใน State Quarantine ใน จ.ชลบุรี พยผู้ป่วยในเที่ยวบินเดียวกัน 1 คนก่อนหน้านี้ ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 พบเชื้อแต่ไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยชาย 1 คน เดินทางมาจากเยอรมนี เข้าพักใน State Quarantine ใน จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อโดยไม่มีอาการ และผู้ป่วยหญิง อายุ 47 ปี เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น เข้าพักใน State Quarantine จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อโดยไม่มีอาการ


ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วย COVID-19 สะสมรวม 18,011,845 คน โดยป่วยเพิ่มวันเดียว 257,655 คน อาการหนัก 65,701 คน รักษาหายแล้ว 11,326,232 คน และเสียชีวิตสะสม 688,683 คน โดยสหรัฐอเมริกา ยังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด 4,764,318 คน ป่วยเพิ่มวันเดียว 58,429 คน รองลงมาคือ บราซิล 2,708,876 คน อินเดีย 1,751,919 คน รัสเซีย 845,443 คน และแอฟริกาใต้ 503,290 คน ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 110 ของโลก

หมอยงชี้ COVID-19สายพันธุ์ G แพร่ง่ายแต่ไม่รุนแรง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า วิวัฒนาการของเชื้อไวรัส COVID-19 อยากทำความเข้าใจ และช่วยเผยแพร่ให้ถูกต้อง การแยกสายพันธุ์ของไวรัส เกิดจากวิวัฒนาการของเชื้อ ตามรูปที่เขียนให้ดูไวรัสเริ่มต้นจากจีน จะมี 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์เอส S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) สายพันธุ์ L แพร่กระจายมีลูกหลานได้มากกว่าสายพันธุ์ S โดยเฉพาะเมื่อออกนอกจีนไปถึงยุโรปสายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดีออกลูกหลานเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine) สายพันธุ์ G แพร่กระจายได้ง่าย ตามหลักวิวัฒนาการ จึงกระจายไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง มีลูกหลานของสายพันธุ์ G มาเป็นสายพันธุ์ GR (Arginine) และ GH (Histidine) นักวิทยาศาสตร์ ศึกษาพบว่าสายพันธุ์ G ระบาด ได้ง่ายแพร่กระจายได้เร็ว แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค และระบบภูมิต้านทาน ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน


ขณะนี้อัตราการครอบคลุมสายพันธุ์ G เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาเป็นเกือบร้อยละ 90 สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่นี้ทั่วโลก จึงเป็นสายพันธุ์ G ย้อนกลับมาระบาดในประเทศไทย เมื่อระลอกแรก ถึงแม้จะพบได้ทุกสายพันธุ์ เพราะมีการเดินทางแต่สายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยในระลอกแรกเป็นสายพันธุ์ S

ทั้งนี้ การตรวจไวรัสในผู้ที่อยู่ในที่กักกันของรัฐ หรือที่เรียกว่า State quarantine โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสของจุฬาฯ พบว่าเป็นสายพันธุ์ G เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา สายพันธุ์นี้ไม่เกี่ยวข้องที่จะทำให้โรครุนแรงขึ้น ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน เพียงแต่การกระจายง่ายๆ จึงทำให้อัตราการพบส่วนใหญ่ของทั่วโลกเป็นสายพันธุ์ G อยู่ในขณะนี้

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง