รองนายกฯห่วงเขื่อนสานะคามประเทศลาว กระทบคนไทยริมน้ำโขง

การเมือง
3 ส.ค. 63
11:00
559
Logo Thai PBS
รองนายกฯห่วงเขื่อนสานะคามประเทศลาว กระทบคนไทยริมน้ำโขง
รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นห่วงเขื่อนสานะคาม ประเทศลาวกระทบคนไทยริมน้ำโขง สั่งกำชับให้เฝ้าระวัง และวิเคราะห์ให้ลึกทุกประเด็นก่อนเสนอท่าทีต่อประเทศลาว

วันนี้ (3 ส.ค.63) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2/2563 โดย พล.อ.ประวิตร ระบุว่า วันนี้ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางและท่าทีของฝ่ายไทยกรณีการก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม ประเทศลาวที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้

ปัจจุบันโครงการฯได้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) แล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงได้มีการหารือ ศึกษา วิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะ ประเด็นข้อห่วงกังวล มาตรการ และแนวทางร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่าง ๆ

ทั้งนี้รัฐบาลไทยมีความห่วงใยต่อผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องด้วยที่ตั้งของเขื่อนสานะคามอยู่ใกล้ชายแดนไทยมาก คือมีระยะห่างเพียง 2 กิโลเมตร เท่านั้น ที่ประชุมจึงมีมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์อย่างรอบด้านและให้ความสำคัญเชิงลึกกับทุกประเด็นทางเทคนิค อาทิ ด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ตะกอนและสัณฐานแม่น้ำ ประมงและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยเขื่อน การเดินเรือ และเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนพิบัติ และการใช้งานเขื่อน

ขณะเดียวกันยังได้เน้นย้ำถึงการดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และการผลักดันประเด็นข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้เสียจาก 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนในด้านนโยบายจากรัฐบาลและมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการ

โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานที่จะต้องนำประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนไปพิจารณาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าด้วยเพื่อให้เกิดกลไกในการป้องกัน ลด และบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้เร่งสร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ภาคประชาชน โดยเห็นชอบให้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงจำนวน 4 ครั้ง แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 ประมาณกลางเดือน สิงหาคมนี้ที่ จ.เลย ครั้งที่ 2 ในเดือน ตุลาคม จ.บึงกาฬ ครั้งที่ 3 เดือนธันวาคม จ.มุกดาหาร และครั้งสุดท้ายในเดือนมกราคม จ.เลย หรือ จ.หนองคาย

พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า จะมีการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งเพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการเชิญผู้แทนประเทศลาว เพื่อมาให้ข้อมูลและตอบคำถามภาคประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามแผนงาน (Roadmap) จะมีการยืดหยุ่นระยะเวลาเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันด้วย โดยต้องเอื้อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทย และ ประเทศลาวเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการอาคารประกอบ หรือเขื่อนตอนบนในลุ่มน้ำโขงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตอนล่างและส่งผลถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงได้ทันเวลา ซึ่งไทยยังสามารถใช้กลไกนี้ในการให้ความช่วยเหลือประเทศลาว ในด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลและถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาการด้านทรัพยากรน้ำอีกด้วย

ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง 2 ประเทศ และยกระดับความร่วมมือจากระดับหน่วยงานเป็นระดับรัฐบาล โดยให้มีผลผูกพันตามข้อตกลง รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ให้การสนับสนุนเพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อที่จะใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนริมน้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะที่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ร่วมรับทราบผลการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในปี 2562 ซึ่ง สทนช. ได้มีการศึกษาและติดตามตรวจสอบ โดยเน้นการเผยแพร่ผลการศึกษาที่ผ่านมาแก่ภาคประชาชน และมีการอบรมเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูล เรื่องการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง รูปแบบการดำรงชีวิตและความเปราะบางของประชาชน และการปรับตัวของประชาชน

ทั้งนี้ ภาคประชาชนมีการเสนอโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย และโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพันธุ์พืชในแม่น้ำโขงเพื่อบรรเทาปัญหา โดยที่ประชุมได้ให้ สทนช. ร่วมกับกรมประมงดำเนินโครงการนำร่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและสนับสนุนการปรับตัวของประชาชน รวมทั้งให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนแผนการรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง