ดีเอสไอตรวจสอบโรงโม่ยะลา พบภาพเขียนสีโบราณถูกทำลาย

ภูมิภาค
4 ส.ค. 63
22:26
1,790
Logo Thai PBS
ดีเอสไอตรวจสอบโรงโม่ยะลา พบภาพเขียนสีโบราณถูกทำลาย
ดีเอสไอลงพื้นที่ยะลา ตรวจสอบโรงโม่หิน 5 แห่ง พร้อมตรวจดูภาพเขียนสีโบราณเขายะลา ที่ถูกทำลายไปส่วนหนึ่ง และการระเบิดหินยังกระทบต่อชุมชนด้วย

วันนี้ (4 ส.ค.2563) เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดย นายพิเชฎฐ์ ทองศรีนุ่น ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวิชาญ ร่วมรักษ์ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ผู้แทน ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นายชยพล สายทวี ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคใต้ พ.ต.ท.อัครวัฒน์ อ่อนแก้วทวีศิลป์ ผอ.ส่วนแผนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ คณะพนักงานสืบสวน ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปพ.จชต.)

ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดยะลา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สำนักงานที่ดินจังหวัดยะลา ปกครองอำเภอเมืองยะลา จนท.ทหาร กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตำรวจภูธร สภ.ลำใหม่ ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สนธิกำลังร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่ประกอบกิจการโรงโม่หิน 6 แห่ง ประกอบด้วย 1.ศิลาอุตสาหกรรม 2.ธนบดีศิลา 3.ศิลาเขาแดง 2563 4.เจริญทิพย์ 5.สามแยกโรงโม่ 6.อับดุลลาเต๊ะ ยากัส โดยมีผู้ประกอบกิจการเหมืองหิน ร่วมเป็นสักขีพยานและให้ข้อมูลในการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ได้เป็นไปตามคดีสืบสวนที่ 142/2563 กรณี การประกอบกิจการเหมืองแร่บริเวณเทือกเขายะลาในพื้นที่ ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รุกล้ำเขตพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

โดย ศปพ. จชต.แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน และขอออกเลขสืบสวนในระบบบริหารคดี เป็นเลขสืบสวนที่ 142/2563 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เพื่อดำเนินการสอบสวนตามแนวทางและประเด็นที่กำหนด ได้แก่ ประเด็นความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มาตรา 52 ประกอบด้วยประเด็นมีการทำเหมือง หลังจากประทานบัตรหมดอายุ หรือไม่ มีการทำเหมืองนอกเขตพื้นที่เหมืองที่ได้รับอนุญาตหรือที่กำหนดไว้ตามแผนผังท้ายประทานบัตรหรือไม่

 

ขั้นตอนในการออกประทานบัตรชอบหรือไม่ มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) หรือไม่

การครอบครองแร่ การแต่งแร่ การขนแร่ มีการขออนุญาตถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือไม่ มีการชำระค่าภาคหลวงถูกต้องหรือไม่ และประเด็นความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจโรงโม่หินทั้งหมด พร้อมกับสอบปากคำ สอบถามข้อมูลการประกอบกิจการเบื้องต้น จากผู้ประกอบการ และได้ทำการตรวจวัดพิกัดพื้นที่

 

พร้อมทั้งเปรียบเทียบหลักฐาน จากภาพถ่ายทางอากาศ ณ ปัจจุบัน และภาพถ่ายทางอากาศในห้วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดีเปรียบเปรียบ ในการประกอบกิจการเหมืองหิน

นอกจากนี้ยังเข้าสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ลิดล อ.เมืองยะลา ซึ่งมีชุมชนอยู่ใกล้กับบริเวณประกอบการเหมืองหิน พบว่า เทือกเขายะลาตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ลิดล ต.ยะลา มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยรอบ ภูเขาดังกล่าวเป็นภูเขาหินปูน มีร่องร่อยของการระเบิดหินภูเขาเป็นบริเวณกว้าง ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อราษฎรในพื้นที่ทั้งในด้านทรัพย์สินสุขภาพอนามัย รวมถึงการใช้ชีวิตโดยปกติสุข ประกอบกับพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขายะลา ได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อันเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าของ จ.ยะลา

ที่ผ่านมา ผลจากการระเบิดหินทำให้บางส่วนของภาพเขียนสีเขายะลา ได้รับความเสียหาย พฤติการณ์ของผู้ประกอบการเหมืองหินดังกล่าวเข้าข่าย ประกอบกิจการเหมืองหิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รุกล้ำเขตพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต บุกรุกแผ้วถางป่า ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียหาย

 

รวมถึงเป็นการทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นสมบัติของชาติซึ่งควรหวงแหน อันเป็นความผิดต่อหลายบทกฎหมาย และมีลักษณะเป็นคดีพิเศษตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก)- (จ) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ในส่วนของจุดที่เป็นภาพเขียนสีโบราณ ฝั่งทางทิศตะวันตกของเขายะลา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ ต.ยะลา อ.เมืองยะลา นั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบ ร่องรอยภาพเขียนสี พร้อมกับถ่ายภาพเป็นหลักฐาน ตรวจวัดพิกัดของพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ ไปประกอบเป็นพยานหลักฐานอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง