"กลาโหม" ยันไทยคุมเข้มนำเข้า "แอมโมเนียมไนเตรท"

สังคม
6 ส.ค. 63
12:31
1,162
Logo Thai PBS
"กลาโหม" ยันไทยคุมเข้มนำเข้า "แอมโมเนียมไนเตรท"
โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยัน การใช้สารแอมโมเนียมไนเตรทในไทยอยู่ในการควบคุมของกระทรวงกลาโหม และมีมาตรการดูแล โดยแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กำกับดูแลเพื่อตรวจสอบจำนวน และการใช้งานอย่างเข้มงวด ด้าน โฆษก กทม. ยืนยัน กรุงเทพไม่มีการจัดเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรท

วันนี้ (6 ส.ค.2563)  พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการนำเข้าสารแอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งเป็นสาเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในเลบานอนว่า ในส่วนของไทยนั้น ปัจจุบันการนำเข้าสารแอมโมเนียมไนเตรท ถือเป็นสารเคมีอยู่ในบัญชียุทธภัณฑ์ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ปี 2530 โดยกรมการอุตสาหกรรมทหาร จะต้องมีวิธีการขอนำเข้า ซึ่งไทยมีมาตรการดูแลที่เข้มงวดดีอยู่แล้ว

ส่วนใหญ่แอมโมเนียมไนเตรทที่ใช้ในไทย มักใช้ในอุตสาหกรรมโรงโม่หิน การนำเข้า มี และใช้ จะต้องอยู่ในการควบคุมตามกฏหมายภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ปี 2530 โดยได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแล อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ควบคุมดูแล ส่วนการจัดเก็บ หรือนำไปใช้ ก็มีเจ้าหน้าที่ควบคุม และสามารถตรวจสอบได้ว่าใช้ไปจำนวนเท่าไหร่ เหลือจำนวนเท่าไหร่ และใช้ในประโยชน์อะไร ทั้งหมดต้องให้รายงานเป็นบันทึกไว้เพื่อสามารถตรวจสอบได้

กทม.ป้องกันเหตุระเบิดจากแอมโมเนียมไนเตรท

ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่กรุงเบรุตประเทศเลบานอน พร้อมระบุว่า ไม่มีสารแอมโมเนียมไนเตรทจัดเก็บอยู่ในพื้นที่ กทม. แต่มีสารเคมีตัวอื่นที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้ เช่น ก๊าซหุงต้ม รวมทั้งมีผู้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเป็นกลุ่มกิจการการจัดเก็บ การผลิต การสะสมสารเคมี การขนส่ง และการใช้งานสารเคมีและวัตถุอันตรายเกือบ 5,000 ราย

ทั้งนี้ กทม.มีมาตรการป้องกันเหตุลักษณะนี้ล่วงหน้า โดยมีทีมทั้งในระดับท้องที่คือ เขต และส่วนกลางที่สำนักอนามัย กทม. เข้าไปตรวจสถานประกอบการทุกแห่งที่มีการจัดเก็บสารเคมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการบริหารจัดการสารเคมีอย่างถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐาน รวมไปถึงจัดการฝึกอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายแก่ผู้ประกอบการ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดให้ทุกสถานประกอบการมีแผนรองรับ

นอกจากนี้ ยังมีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมรับมือกับภัยทุกรูปแบบ มีการฝึกซ้อมแผนรองรับเหตุฉุกเฉินและการตอบโต้อุบัติภัยสารเคมีในทุกหน่วยงานของ กทม. ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถแจ้งให้ กทม.เข้าไปตรวจสอบและจัดเก็บสารเคมีได้ โดยประสานผ่านสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต หรือโทร 1555 กรณีมีเหตุไฟไหม้จากสารเคมี แจ้ง 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

นักวิชาการไขคำตอบ ระเบิดจากสารแอมโมเนียมไนเตรท

ขณะที่ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์สาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า สารแอมโมเนียมไนเตรท เป็นทั้งสารเคมีที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ใช้ทำปุ๋ยและจัดเป็นวัตถุระเบิดแรงดันสูงเช่นกัน เมื่อสารตัวนี้วางซ้อนกันมากๆ ด้านล่างจะมีความร้อนระอุอยู่ภายใน เมื่อถึงจุดวาบไฟ ก็จะติดไฟได้ด้วยตัวเองเพราะมีอ็อกซิเจนเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว และระเบิดได้ ดังนั้น การเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรท หรือสารอันตราย ก็ควรเก็บในพื้นที่ห่างไกลแหล่งกำเนิดประกายไฟ ความร้อน เก็บในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และห่างไกลจากที่ชุมชน ด้วยความที่เป็นสารอันตรายแบบนี้

เมื่อปี 2562 กรมวิชาการเกษตรจึงได้ยกเลิกการควบคุมแอมโมเนียมไนเตรทเป็นปุ๋ยเคมีและปุ๋ยยูเรีย โดยห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยเคมี เว้นแต่เป็นปุ๋ยเชิงประกอบและเชิงผสม เนื่องจากปัจจุบันมีการนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมเคมี และกำหนดเป็นยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตต่อกระทรวงกลาโหม แต่เมื่อยังใช้เป็นปุ๋ยเชิงประกอบและเชิงผสม จึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีการใช้งานในภาคการเกษตรโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในกลุ่มเปอร์คอเรท

หากพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เบรุต เราก็ไม่ควรประมาทเช่นกัน การระเบิดรุนแรงในบ้านเราอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะก็เคยมีบทเรียนในอดีตมาก่อน แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องหันกลับมาเข้มงวดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและการเก็บสารเคมีอันตรายเช่นกัน

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอมโมเนียมไนเตรท 2.7 พันตัน ปมระเบิดครั้งใหญ่กรุงเบรุต

ไขคำตอบ "แอมโมเนียมไนเตรท" จากปุ๋ยสู่ระเบิดกรุงเบรุต

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง