เปิดหลักฐาน! คลินิกฮุบเงินบัตรทอง 100 ล้าน

สังคม
6 ส.ค. 63
19:04
3,168
Logo Thai PBS
เปิดหลักฐาน! คลินิกฮุบเงินบัตรทอง 100 ล้าน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดหลักฐานกรณีคลินิกชุมชนอบอุ่นถูกกล่าวหาทุจริตเบิกเงินค่าตรวจโรคเกินจริง สปสช.พบทุจริตแล้ว 88 แห่ง มีทั้งคลินิก แล็บ คลินิกทันตกรรม พร้อมสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553

วันนี้ (7 ส.ค.2563) ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดหลักฐานการทุจริตเบิกเงินเกินจริงของคลินิกชุมชนอบอุ่น ภายหลังอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จริงฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม โฆษกอนุกรรมการฯ นำแถลงข่าวความคืบหน้าในการตรวจสอบเมื่อวานนี้ (6 ส.ค.) พบคลินิกสมรู้ร่วมคิดกับแล็บ ทุจริตใน 2 รูปแบบ

1.การปลอม “ใบแล็บผี” หรือเอกสารรับรองผลการตรวจ โดยไม่มีผู้ป่วยไปตรวจจริง และ 2.คลินิกแก้ไขข้อมูลของผู้ป่วย เพื่อให้มีมวลกายสูงเข้าเกณฑ์ตรวจโรคในกลุ่มเมตาบอลิก (เช่น กลุ่มเสี่ยงความดัน เบาหวาน ฯลฯ) ซึ่งมีประชาชนถูกนำรายชื่อไปสวมสิทธิกว่า 200,000 รายชื่อ

ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบ ล็อตแรก คลินิก 18 แห่ง ความเสียหายกว่า 72 ล้านบาท แจ้งความดำเนินคดีแล้ว ส่วนล็อต 2 ขยายผลตรวจคลินิก 68 แห่งใน กทม. พบเข้าข่ายทุจริต 63 แห่ง ความเสียหายเบื้องต้น 34 ล้านบาท (ตรวจสอบเอกสารยังไม่แล้วเสร็จ) เตรียมดำเนินคดี

นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับแล็บ 2 แห่ง คือ บริษัท สยามเมดิคอล ไอคิว แล็บ จำกัด และบริษัท โปรเซ้นทรัล เมดิคอล กรุ๊ป จำกัด รวมถึงคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง

รวมคลินิกชุมชนอบอุ่น แล็บ คลินิกทันตกรรม 88 แห่ง มีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ไทยพีบีเอสออนไลน์ มีตัวอย่างเอกสารที่เป็นหลักฐานการทุจริต แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 การปลอมแปลงข้อมูล และส่วนที่ 2 เอกสารของแล็บที่ไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนที่ 1 การปลอมแปลงข้อมูล

1.รายชื่อของคลินิกที่เบิกเงินค่าตรวจโรค ไม่ตรงคลินิกที่เป็นผู้ตรวจคัดกรอง

2.การแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมี ชื่อ-นามสกุล ไม่ตรงตามที่กรอกในใบระเบียนเวช

3.แก้ไข น้ำหนัก ส่วนสูง BMI เส้นรอบเอว เพื่อให้มวลกายสูงเข้าข่ายการตรวจโรค ซึ่งหากมีการตรวจแล็บ คลินิกจะสามารถเบิกจ่ายประมาณ 400 บาทต่อคน มากกว่าการตรวจคัดกรองโดยการซักประวัติเพียงอย่างเดียว คือ 100 บาทต่อคน

 

 

 

4.น้ำหนัก-ส่วนสูง ของผู้ป่วย ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและข้อมูลของคลินิก จากนั้นสุ่มโทรไปตรวจสอบกับผู้ป่วย พบว่ามีการกรอกข้อมูลผิดจากความเป็นจริงไปมาก เช่น กรอกข้อมูลว่า น้ำหนัก 65 กก. ส่วนสูง 160 ซม. แต่เมื่อโทรตรวจสอบข้อมูลกับผู้ป่วย พบน้ำหนัก 52 กก. (ต่ำกว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่กรอกถึง 13 กก.) ส่วนสูง 165 ซม. (ส่วนสูงต่ำกว่าความเป็นจริง) ซึ่งการกรอกข้อมูลลักษณะนี้ ทำให้ผู้ป่วยมีมวลกายสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้เข้าข่ายการตรวจโรคโดยการเจาะเลือดและต้องให้แล็บเป็นผู้ตรวจผล

5.มีการเบิกจ่ายการที่จะมีการตรวจ เช่น เบิกตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2562 แต่ลงวันตรวจวันที่ 19 ก.ย.2562 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเบิกก่อนตรวจ ทั้งนี้ความผิดปกติดังกล่าวต้องตรวจสอบว่าเป็นการกรอกข้อมูลผิด หรือจงใจกรอกข้อมูลดังกล่าว

6.ลายมือชื่อของผู้ป่วย คล้ายกับเจ้าหน้าที่ของคลินิก รวมถึงคลินิกบางแห่งมีผู้ป่วยลงลายมือชื่อคล้ายกันทั้งหมด

 

 

ส่วนที่ 2 เอกสารแล็บไม่น่าเชื่อถือ

พิจารณาจากหลักฐานสำคัญคือผลแล็บ เช่น ไม่มีข้อมูลของคลินิกที่ส่งตรวจในผลแล็บ หรือวันที่รายงานผลแล็บออกมาก่อนการตรวจคัดกรองโรคของคลินิก เช่น ตรวจคัดกรองโรค วันที่ 3 มิ.ย.2562 แต่ผลแล็บออกมาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.2562 ทั้งนี้ต้องตรวจสอบต่อว่าเป็นการกรอกข้อมูลผิด หรือจงใจกรอกข้อมูลผิดเพื่อการเบิกจ่ายเกินจริง

 


ขั้นตอนหนึ่งในการตรวจสอบของ สปสช. คือการโทรศัพท์ไปตรวจสอบข้อมูลกับผู้ป่วยที่ปรากฎชื่ออยู่ในผลแล็บ (ตรวจสอบ 23-27 ก.ค.ที่ผ่านมา) โทรศัพท์ทั้งสิ้น 3,264 คน พบว่า ติดต่อไม่ได้ 72% หรือ 2,377 คน ส่วนที่ติดต่อได้มีเพียง 27.1% หรือ 887 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยืนยันว่าไม่เคยได้รับการตรวจเลย หรือรับการตรวจแต่ชื่อคลินิกไม่ถูกต้อง 10% หรือ 328 คน

สปสช. มีแผนตรวจสอบ 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการกับ 18 คลินิก ซึ่งดำเนินการแล้ว, ระยะที่ 2 ขยายผล 68 คลินิก 2 แล็บ และ 5 คลินิกทันตกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ, ระยะที่ 3 ขยายผลคลินิกทั่ว กทม., ระยะที่ 4 ตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553 และระยะที่ 5 ตรวจสอบคลินิกชุมชนอบอุ่นในปริมณฑลและพื้นที่เขต 4 เขต 5 เขต 6 (ส่วนใหญ่คลินิกชุมชนอบอุ่นอยู่ใน กทม.และปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดมีเฉพาะในเมืองใหญ่)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งทำคดี 18+63 คลินิก ทุจริตบัตรทอง จ่อสอบย้อนหลัง 10 ปี

สบส.รุดตรวจคลินิก 18 แห่ง ปมเบิกจ่ายค่ารักษาเท็จ

สปสช.ยังไม่สรุป 63 คลินิกทุจริตงบฯ บัตรทอง

ค้นคลินิกเวชกรรมและทันตกรรม 4 แห่งส่อทุจริต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง