เปิดขุมทรัพย์ขยะเกาะสมุย

สิ่งแวดล้อม
7 ส.ค. 63
19:35
2,875
Logo Thai PBS
เปิดขุมทรัพย์ขยะเกาะสมุย
หลังเหตุเรือเฟอร์รีล่ม ขยะจำนวนมากจมลงทะเล จากการตรวจสอบพบว่าอาจเป็นขยะเก่าที่ตกค้างมาหลายปี และเพิ่งถูกขนย้ายออกมา หลังจากทำสัญญาถูกต้อง วงเงินสูงถึง 153 ล้านบาท ทั้งที่เครือข่ายภาคประชาชนเคยเสนอโมเดลการจัดการที่ถูกกว่า และไม่ต้องเสี่ยงขนย้ายออกมา

วันนี้ (7 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพมุมสูงเผยให้เห็นสถานีขนถ่ายมูลฝอย หรือโรงกำจัดขยะ เทศบาลนครเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งแบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ ทั้งที่เป็นตัวโรงงานเพื่ออัดก้อนขยะ รวมถึงบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นบ่อขยะที่มีการคลุมด้วยพลาสติกสีดำ นอกจากนี้ ยังมีขยะจำนวนมากตกค้างอยู่บริเวณด้านข้างโรงกำจัดขยะ โดยไม่ผ่านการจัดการอย่างถูกต้อง

 

 

ซึ่งขยะภายในโรงกำจัดขยะเหล่านี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกเคลื่อนย้ายใส่รถบรรทุกสิบล้อไป เมื่อคืนวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา แล้วนำขึ้นเรือเฟอร์รี ก่อนเกิดอุบัติล่มลงกลางทะเล จนกลายเป็นประเด็นคำถามให้สังคมตรวจสอบวิธีการขนย้ายขยะของบริษัทเอกชน ซึ่งทำสัญญาว่าจ้างกับเทศบาลนครเกาะสมุย ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่

ข้อสังเกตช่องว่างสัญญาจ้างเอกชนขนขยะ

นายสุรพงษ์ วิริยานนท์ เครือข่ายพลเมืองสมุย ซึ่งติดตามปัญหาขยะสมุยมาต่อเนื่อง ระบุว่า ในช่วงปี 2561 - 2563 เทศบาลนครเกาะสมุย ได้มีการทำสัญญาว่าจ้าง กลุ่มบริษัทค้าร่วมปัญจะ ลัคกี้ คลีน เอ็นไวรอนเมนทอล เพียงบริษัทเดียวถึง 2 สัญญาด้วยกัน

 

 

โดยสัญญาแรก ทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2561 เพื่อให้ขนย้ายขยะไปกำจัดนอกเกาะสมุย จำนวน 240,000 ตัน เป็นเงินงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตันละกว่า 1,300 บาท จากนั้นได้ทำสัญญาอีกฉบับ ลงวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขนย้ายขยะค้างเก่าจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 ตัน ในวงเงินกว่า 153 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตันละกว่า 1,500 บาท

เครือข่ายพลเมืองเกาะสมุย ตั้งข้อสังเกตว่าการทำสัญญาขนย้ายขยะมีช่องว่างหลายด้าน โดยเฉพาะการรีบเร่งทำสัญญาฉบับที่ 2 เพื่อขนย้ายขยะตกค้างให้กับบริษัทเดิม ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลชี้แจงให้สังคมรับทราบว่าในสัญญาฉบับเดิมที่ให้ขนย้ายขยะวงเงินงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ดำเนินการขนย้ายขยะไปได้มากน้อยเพียงไร และมีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วเท่าไหร่

ในเมื่อโรงแรมปิดเกือบ 100% ปริมาณขยะตรงนี้จะต้องลดลงไม่น้อยกว่า 50 – 60% จากตัวเลข 150 ตันต่อวัน อาจจะเหลือแค่ 75 – 80 ตันต่อวันเท่านั้น

ภาคประชาชนเกาะสมุย ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เสนอแนวทางจัดการขยะบนเกาะสมุยเพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง โดยมีต้นทุนดำเนินการเพียงแค่ตันละ 600 บาท แต่กลับถูกปฏิเสธ ก่อนที่จะมีการทำสัญญากับเอกชนรายปัจจุบัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันมาก และเห็นว่าวิธีจัดการขยะ โดยขนย้ายออกนอกพื้นที่ นอกจากมีความเสี่ยงแล้ว ยังมีต้นทุนสูงและไม่ยั่งยืน

 

 

ด้านนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ระบุว่า กระบวนการทำสัญญากับบริษัทเอกชน เพื่อขนย้ายขยะเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงการคลังทุกอย่าง และหากกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่โปร่งใส ก็สามารถร้องเรียนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบได้

ตรวจสอบบริษัทรับสัมปทานขนขยะบนเกาะสมุย

ทั้งขยะเก่าบนเกาะสมุยที่มีกว่า 300,000 ตัน และขยะใหม่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ประเมินว่ามีมากถึงวันละ 200 ตัน เป็นโจทย์ที่ทำให้เทศบาลนครเกาะสมุยหาวิธีการจัดการ โดยหนึ่งในบริษัทที่ชนะการประมูลมาตลอดในช่วงหลัง คือกิจการค้าร่วม "ปัญจะ ลัคกี้ เอ็นไวรอนเมนทอล" ประกอบด้วย 3 บริษัท คือ บริษัท ปัญจะ ไลน์ จำกัด, บริษัท ลัคกี้ เอ็นไวรอนเมนทอล โซลูชั่น จำกัด และบริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

โดยบริษัท ปัญจะ ไลน์ จำกัด เน้นไปที่การเดินเรือทั้งในและต่างประเทศ ส่วนอีก 2 บริษัท เน้นธุรกิจบำบัดและกำจัดของเสีย โดยเฉพาะบริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มีทุนจดทะเบียนสูงสุด 176 ล้านบาท มีนายอนันต์ สุวรรณปาล อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการบริษัท

 

 

ตั้งแต่เดือน ก.ย.2558 บริษัทดังกล่าว ได้เข้าไปเช่าที่ดินเกือบ 150 ไร่ ในเขตพื้นที่เทศบาล ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเดินหน้าระบบฝังกลบขยะ และต้องการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ แต่ปริมาณขยะในพื้นที่และ อปท.ใกล้เคียง มีไม่เพียงพอ บริษัทฯ จึงตั้งใจประมูลงานขยะที่เกาะสมุยให้ได้ ซึ่งหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ชัด คือกรรมการบริหารบริษัท ได้กล่าวในที่ประชุมสภาเทศบาล ต.บ้านส้อง เมื่อปี 2560

 

โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ และบริษัทในกิจการร่วมทุน ได้เข้าไปประมูลทั้งขยะเก่าที่ตกค้าง และขยะใหม่บนเกาะสมุย จนถือสัญญาถึง 2 ฉบับ รวมมูลค่ากว่า 521 ล้านบาท

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง