THE EXIT : จัดระเบียบรัฐรุกป่า

Logo Thai PBS
 THE EXIT : จัดระเบียบรัฐรุกป่า
ภาคประชาสังคม เผยมติคณะรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานของรัฐกว่า 31,000 แห่ง ที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไปขออนุญาตให้ถูกต้อง คือกฏหมายนิรโทษกรรมให้ผู้บุกรุกป่า โดยอ้างประโยชน์สาธารณะ แต่ชาวบ้านกลับยังถูกดำเนินคดี

สถานที่ตั้งของโรงเรียนบ้านนาเจริญ ต.เหล่ากอหก อ.นาแห้ว จ.เลย อยู่บนภูเขาสูงชันและสลับซับซ้อน เป็นโรงเรียนสุดชายแดนภาคอีสาน อยู่ติดกับ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เคยเป็นพื้นที่สู้รบในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าและอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ

 

โรงเรียนบ้านนาเจริญ มีนักเรียนประมาณ 40 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นหนึ่งในเป้าหมายหน่วยงานรัฐกว่า 31,000 แห่งทั่วประเทศ ที่บุกรุกพื้นที่ป่าโดยไม่ขออนุญาตมานานกว่า 30 ปี น.ส.ยุภาพร ทรงภักดี ผอ.ร.ร.บ้านนาเจริญ เปิดเผยว่าการอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ขาดงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน


งบประมาณที่ได้มาแทบจะไม่ได้อะไรเลย ต้องหาจากผ้าป่าและจากคณะศิษย์เก่า งบฯ การซ่อมแซมไม่ได้เลย เพราะว่าไม่ใช่ที่ราชพัสดุ ไม่ใช่อาคารที่ขึ้นกับราชพัสดุ งบฯ ที่ได้มามีแต่ของนักเรียน

ไม่แตกต่างจากวัดศรีมงคล อ.ด่านซ้าย ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงและอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พระตรียุทธจรูญวิชญ์ จัทสีโร เจ้าอาวาสวัดศรีมงคล กล่าวว่าการพัฒนาสาธารณูปโภคไม่ต่อเนื่องและยังกลัวการถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งหากกรมป่าไม้เปิดให้ขออนุญาตใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง จะเป็นโอกาสที่วัดบุกรุกพื้นที่ป่าจะได้รับประโยชน์ทั่วประเทศ


ขาดความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากไม่มีหลักฐานครอบครอง เป็นปัญหาที่วัดเจออยู่ในขณะนี้

 

มติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เปิดเผยข้อมูลส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ก่อนได้รับอนุญาตทั่วประเทศ 74 จังหวัด กว่า 31,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งภาคประชาชนจังหวัดเลย มองว่านี่คือการยอมรับครั้งแรกของกรมป่าไม้ว่าหน่วยงานของรัฐก็บุกรุกป่ามายาวนาน แต่ก็ได้รับยกเว้นดำเนินคดีตามกฏหมายมาโดยตลอด


นายปราโมทย์ ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ระบุว่าอีกหนึ่งข้อสังเกตคือการกดทับปัญหาเดิม โดยเฉพาะคดีชาวบ้านที่มีข้อพิพาทที่ดินกับภาครัฐ ทั้งที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน ซึ่ง มติ ครม.ฉบับนี้จะรับรองสิทธิหน่วยงานราชการ ทำให้การแก้ไขปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้นและขยายความขัดแย้งให้รุนแรง


แทนที่กรมป่าไม้จะยกเลิกการให้ใบอนุญาตและคืนพื้นที่ให้กับประชาชน กรณีมีข้อพิพาทที่ดินกับหน่วยงานรัฐ หากพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านเขาถือครองที่ดินมาก่อน แต่ มติครม.นี้ กลับไปเปิดโอกาสให้หน่วยงานสามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เรื่องพิพาทเดิมที่อาจมีบางพื้นที่ที่มีข้อยุติแล้ว ก็ควรคืนพื้นที่ให้เขา ก็ต้องถูกตัดถอนลงไป 


นายธวัชชัย ลัดกรูด ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี ) กล่าวว่าข้อกำหนด มติ ครม.เร่งให้หน่วยงานของรัฐหรือส่วนราชการ ต้องยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าภายใน 180 วัน พร้อมทั้งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากยังไม่ดำเนินการ ให้กรมป่าไม้บังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด และมิให้จัดสรรงบประมาณแก่โครงการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่า

 

ทั้งนี้ ข้อมูลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าตั้งแต่ปี 2557–2562 สามารถยึดคืนพื้นที่ป่าจากกลุ่มนายทุนและชาวบ้านที่ไม่มีคุณสมบัติที่อยู่อาศัยและทำกินกว่า 850,000ไร่ ดำเนินคดีบุกรุกเกือบ 30,000 คดี พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 300,000 ไร่ ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง