รู้จักโรค "ไวรัสเห็บ" เริ่มพบระบาดจีน-ไทยยังไม่มีรายงาน

สังคม
9 ส.ค. 63
16:44
11,798
Logo Thai PBS
รู้จักโรค "ไวรัสเห็บ" เริ่มพบระบาดจีน-ไทยยังไม่มีรายงาน
"ไบโอเทค" ชี้นักไวรัสจับตาโรคไวรัสเห็บ (SFTS) ในจีน หลังค้นพบเมื่อ 10 ปีก่อน แต่เพิ่งมีแนวโน้มการระบาดหนักในปีนี้ พบผู้ป่วยมากกว่า 60 คน เสียชีวิต 7 คน ลักษณะอาการไข้สูง อ่อนเพลีย เกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาวลดลง และมีอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง

กรณีสื่อสำนักข่าวโกลบอลไทม์สของจีน รายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่าพบการระบาดของโรคที่เกิดจาก "ไวรัสเห็บ" Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome Bunyavirus- SFTSV ในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของประเทศ โดยครึ่งแรกของปีนี้มีผู้ติดเชื้อ 37 คน เสียชีวิต 7 คน สร้างความตื่นตระหนกกับคนทั่วโลก 

วันนี้ (9 ส.ค.2563) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก  Virology and Cell Technology Lab - BIOTEC ว่า ในขณะที่ทั้งโลกกำลังวุ่นอยู่กับการหาวิธีรับมือการระบาดของโรค COVID-19 ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาที่มณฑลเจียงซู และอันฮุย ทางตะวันออกของประเทศจีน ได้มีการรายงานของโรคระบาดอีกชนิดหนึ่ง ที่มีผู้ป่วยติดไปมากกว่า 60 คน และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7 คน โดยโรคดังกล่าวมีชื่อว่า Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome หรือเรียกย่อๆ ว่า SFTS

โรค SFTS เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล Bunyavirus ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะ ชื่อของไวรัสแบบเป็นทางการยังไม่มี เลยใช้ว่า SFTS virus ไปก่อน

โดยไวรัสในตระกูลนี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายลบ สามเส้นเป็นวงขนาดแตกต่างกันไป เส้นยาวสุด (Large) ขนาดยาว 6,368 เบส ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ที่ไวรัสใช้เพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม เส้นที่สอง (Medium) ยาว 3,378 เบส ทำหน้าที่สร้างโปรตีนบนเปลือกไวรัส ใช้เข้าสู่เซลล์ และเส้นที่สาม (Small) ยาว 1,744 เบส สร้างโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด และโปรตีนอื่นๆที่ช่วยให้ไวรัสเพิ่มปริมาณได้

ด้วยคุณสมบัติของสารพันธุกรรมที่แยกเป็นเส้นๆ ดังกล่าว ปรากฏการณ์ที่ไวรัสชนิดนี้จะแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกันในเซลล์เจ้าบ้าน ถ้าไวรัสมากกว่า 1 ชนิด ติดเข้าสู่เซลล์เดียวกันแล้วเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ (Reassortant) จึงเกิดขึ้นได้ คล้ายๆ กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

ไวรัสชนิดนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่ไวรัสใหม่ นักวิจัยจีนได้พบไวรัสชนิดนี้มามากกว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ก่อเกิดโรคในคนมากเท่านี้มาก่อน มีเพียงผู้ป่วย 1-2 คนเท่านั้น การเกิดระบาดในคนมากกว่า 60 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10% จึงเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกสำหรับนักไวรัสหลายท่านว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสชนิดนี้

อาการป่วยไข้สูง-อ่อนเพลีย

ผู้ป่วย SFTS จะมีไข้สูง อ่อนเพลีย เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวจะลดลง ผู้ป่วยที่อาการหนักจะพบการเลือดออกคล้ายไข้เลือดออก อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ และอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ปัจจุบันไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียาต้านไวรัส ชื่อว่า Ribavirin ที่มีข้อมูลว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาได้

เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เชื่อว่าแพร่สู่คนโดยเห็บเป็นพาหะสำคัญ หลักฐานการแพร่กระจายจากคนสู่คนที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เชื่อว่าคงจะไม่แพร่อย่างรวดเร็วเหมือน COVID-19 เพราะแพร่ทางการสัมผ้สเลือดที่ติดเชื้อ ไม่ใช่ทางเดินหายใจ แต่ด้วยอัตราการตายที่สูงแบบไม่ปกติ คงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในจีนต่อไปว่าเคสจะสูงขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่

ไวรัสเห็บมี "เห็บ" เป็นพาหะติดต่อสู่คน 

ขณะที่ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เผยแพร่งานวิจัยของ พญ.พักต์เพ็ญ สิริคุตต์ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่า ในปลายเดือน ก.ค.2560 พบผู้ป่วยหญิงชาวญี่ปุ่นอายุ 51 ปีเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ สาเหตุของการเสียชีวิตในผู้ป่วยคนนี้เกิดจากโรค SFTS

โรค SFTS เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ severe fever with thrombocytopenia syndrome virus (SFTSV) เป็นเชื้อไวรัสใหม่ ชนิด RNA อยู่ใน genus phlebovirus, family Bunyaviridae1

การติดเชื้อ SFTSV พบมากใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อุบัติการณ์การเกิดโรคสูงสุดในประเทศจีน คือ 0.12 - 0.73 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 0.07 ต่อแสนประชากร และญี่ปุ่น 0.05 ต่อแสนประชากร ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย
ภาพ:สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

ภาพ:สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

ภาพ:สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

ระบาดในจีนหนักสุด-รองลงมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ผู้ป่วยติดเชื้อ SFTSV พบครั้งแรกในปี 2549 ที่มณฑลอานฮุน ประเทศจีนหลังจากนั้นก็มีการระบาดอีกครั้งในปี พ.ศ.2552 พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวทั้งหมด 171 คน ระบาดไปทั่วทั้ง 6 มณฑล ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง ซานตง เหอหนาน อานฮุน เจียงซู และหูเป่ย์ ต่อมาก็มีการระบาดอย่างต่อเนื่องทุกปีในพื้นที่ทางตอนกลางและตะวันออกของประเทศ ในช่วงปี 2556 - 2559 พบผู้ป่วยถึง 7,419 คน เสียชีวิต 355 คน อัตราการตายเฉลี่ยร้อยละ 5.35

เชื้อ SFTSV ติดต่อโดยมีเห็บเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีประวัติถูกเห็บกัดก่อนเกิดอาการ และสามารถตรวจพบเชื้อ SFTSV จากเห็บ และจากสัตว์ที่อยู่บริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย เชื้อชนิดนี้มีวงจรการติดต่อแบบ enzootic tick - vertebrate - tick cycle มีการวนเวียนของเชื้อระหว่างเห็บและสัตว์ที่เป็นรังโรค ชนิดของเห็บที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญคือ H. longicornis ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานการก่อโรคในสัตว์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทาสแมวต้องระวัง "โรคขี้แมวขึ้นสมอง" แต่มีอาการทางตา

เตือนให้ "แมวเลียหน้า" อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง