ปรากฏการณ์ “อิกนอร์เรนซ์” ในโลกเสมือน

การเมือง
10 ส.ค. 63
20:15
37,608
Logo Thai PBS
ปรากฏการณ์ “อิกนอร์เรนซ์” ในโลกเสมือน

เปิดโทรศัพท์มือถือเข้าทวิตเตอร์ช่วงนี้ เป็นใครก็ต้องเจอทวีตเรื่องการเมืองผ่านหน้าฟีด ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ได้สนใจการเมือง

ชาวทวิตเตอร์ส่วนใหญ่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมือง เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงประเทศ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จนแฮชแท็กติดเทรนด์แทบทุกวัน

จากพื้นที่ที่เคยระบายเรื่องราวชีวิต บ่นปัญหาที่ทำงาน พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ บอกกล่าวสิ่งที่อยู่ในใจ อย่างไร้ขอบเขต ฯลฯ แต่ตอนนี้บรรยากาศเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนไป เมื่อหลายคนพร้อมจะพูดคุยเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง

การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

เป็นประโยคที่ชาวทวิตเตอร์บางคนเห็นจนคุ้นตา ทำให้กลุ่มที่ไม่สนใจการเมือง ทั้งที่ไม่ได้ทวีตถึง ไม่ได้แสดงความคิดเห็น ไม่ได้รีทวีต หรือแม้แต่ไม่ได้ออกไปร่วมชุมนุม คือกลุ่มคนที่ถูกมองว่ามีความ “อิกนอร์เรนซ์” (ignorance)  หรือกลุ่มคน​อิกนอแรนต์​ (ignorant)​


รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า คำว่า “อิกนอร์เรนซ์”เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ปี 2016 ในศึกเลือกตั้งระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน

ขณะนั้นแม้จะมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับทรัมป์ แต่คนก็ยังเลือกทรัมป์ด้วยเหตุผลที่แต่ละคนมี จนทำให้เกิดการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “อิกนอร์แรนต์”

ส่วนประเทศไทย เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อกว่า 10 ปี ก็เริ่มมีการแบ่งฝักฝ่าย โดยใช้สีตามที่กลุ่มการเมืองกำหนดขึ้น เช่น สีเหลือง สีแดง ที่มักอ้างกันว่า “เป็นคนชัดเจนทางการเมือง”

และสรุปแบบเหมารวมเอาว่า คนที่ไม่แสดงออกว่า สนใจการเมือง หรือไม่ชัดเจนใดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น “สลิ่ม”

เมื่อมาถึงปัจจุบันที่ทุกคนตั้งคำถามว่า “ทำไมคนไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง หรือโอเคกับรัฐบาลปัจจุบันหรือ จนเกิดเป็นอิกนอร์แรนต์” ขึ้นมา

ในทางภาษาศาสตร์คำว่า อิกนอร์เรนซ์ ในภาษาอังกฤษ ดีกว่าคำว่า Stupid คือ คนเหล่านี้ไม่ได้โง่ เพียงแต่เฉยกับข้อมูล ข้อเท็จจริงบางอย่าง แล้วตัดสินใจไปตามความต้องการเท่านั้น

ความคิดทางการเมืองของคนแบ่งเป็นเฉดอยู่แล้ว จะไปว่ากันไม่ได้ ว่าใครอยู่ตรงนั้น อยู่ตรงนี้ มันขึ้นอยู่กับว่า ความคิดของคู่ตรงข้าม จะดึงคนตรงกลางไปมากแค่ไหน

ทำไมคนจึงเพิกเฉยทางการเมือง ?

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ระบุว่า มีคำอธิบายทางวิชาการได้จากคำว่า political apathy หรือ ความเพิกเฉยทางการเมือง ซึ่งแบ่งได้ 3 อย่าง คือ

  1. ไม่เห็นประโยชน์ในการมีส่วนร่วม
  2. กังวลผลกระทบหลังมีส่วนร่วม
  3. ไม่สนใจจริงๆ

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต้องมองว่า ขณะนี้กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “อิกนอร์เรนซ์” อาจจะแค่เป็น political apathy

แต่การผลักให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็น “อิกนอร์เรนซ์” อาจไม่ใช่เรื่องดี เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการมวลชน และคนจำนวนมากจึงจะบรรลุเป้าหมายได้

ดังนั้น แทนที่จะมองว่าเขาอิกนอร์เรนซ์ เราอาจจะมองเขาเป็น apathy แล้วหาทางแก้ไขแทน

ถ้ากลุ่มคนเหล่านั้นไม่เห็นประโยชน์ของการมีส่วนร่วม ก็ต้องบอกพวกเขาว่า ทำไมต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง สำคัญอย่างไร

ส่วนคนที่บอกว่า “ออกมาแล้วจะมีผลลบ” อาจต้องชี้ให้เห็นว่า ผลลบส่วนบุคคลที่ได้มา อาจจะเกิดผลบวกที่ยิ่งใหญ่ต่อระดับประเทศ คนจะเริ่มชั่งใจ ส่วนคนที่ไม่สนใจเลยก็อาจจะยากหน่อย

ต้องยอมรับว่า คนที่ไม่ได้แสดงออกอะไรในเฉดสีทางการเมืองมีเยอะ ดังนั้น ถ้าอยากดึงคนตรงกลางให้เห็นด้วยก็ต้องพยายาม การไปบอกว่าทำไมคุณไม่ออกมา โดยการกดดันหรือต่อว่า อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดี แต่เหมือนผลักเขาไปอยู่ฝั่งตรงข้าม

นอกจากนี้ รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ยังระบุว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอาจจะไม่ใช่ใครเป็นอิกนอร์เรนซ์หรือไม่ แต่เป็นการใส่ใจกับ political knowledge กฎ กติกา ในสังคม ใครทำอะไร ที่ไหน

บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ จะรู้ไปทำไม แต่กฎ กติกา ผู้เล่นทางการเมืองหลายๆ ครั้ง คนไม่ค่อยรู้

มีการศึกษาว่า 60 % ของคนในโลกนี้ ไม่รู้ว่ากติกามีอะไรบ้าง ทำให้อาจไม่เข้าใจเป้าหมายในการขับเคลื่อน ในส่วนนี้ถือว่า เป็นกลุ่มอิกนอแรนต์หรือไม่ ?

เขาไม่ได้อิกนอแรนต์แต่เขาอาจจะแค่ไม่รู้เท่านั้น

#ถ้าการเมืองดี สะท้อนภาพชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้บรรยากาศในทวิตเตอร์จะเริ่มเพิ่มแรงกดดันต่อกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “อิกนอแรนต์” แต่ยังมีอีกหลายคนที่พยายามหาแนวทางสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นความอิกนอร์เรนซ์ให้หยุดเพิกเฉยทางการเมือง


แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อหลายคนพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเมือง ที่เชื่อมโยงด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง การควบคุมโรค ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม

“ถ้าการเมืองดี สิทธิพื้นฐานในการใช้ชีวิต และการบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐก็จะดีตามไปด้วย" ชาวทวิตเตอร์หลายคนย้ำแนวคิดนี้ เพื่อให้คนที่อาจจะยังไม่สนใจการเมือง มองเห็นการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

#ถ้าการเมืองดี ฉันจะมีทางเท้าดีๆ ให้เดิน

#ถ้าการเมืองดี ไม่ต้องไปแย่งคิวโรงพยาบาลรัฐกันตั้งแต่ตี 4 ตี 5 กว่าจะได้ตรวจนู้น...... บ่าย

#ถ้าการเมืองดี เราจะมีขนส่งสาธารณะดีๆ ไม่ต้องมายืนรอรถเมล์ให้ร้อน ให้เหนื่อยแบบนี้ กว่าจะได้กลับเหนื่อยแแล้วเหนื่อยอีก

บางคนเขียนบนทวิตเตอร์จนเห็นภาพ

#ถ้าการเมืองดี  ฉันอยากอยู่ในประเทศที่วันเสาร์-อาทิตย์ ได้อ่านหนังสือ ในห้องสมุดประชาชน แวะชมงานศิลป์ที่ Art Center ตกเย็นนัดเพื่อน ๆ ไปจิบเบียร์คราฟท์ ที่ร้านท้องถิ่นในเมือง จากนั้นเราก็ค่อย ๆ เดินกลับอพาร์ตเมนต์บนทางเท้าที่ปลอดภัย...

ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นและพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า #ถ้าการเมืองดี หยุดเพิกเฉยกับการเมืองด้วยตัวเอง และตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและเหตุผล โดยไม่ต้องเลือกจากความกดดันจนกลายเป็นความขัดแย้งกันเองกับคนที่ไม่ใช่เฉดสีตรงข้ามสักทีเดียว


อย่างที่ รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "ความแตกต่างทางความคิดเป็นสิ่งที่โอเค คนเราคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่คนที่คิดต่างกัน ก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ เพราะสังคมต้องการการถกเถียง เพื่อตกผลึกให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้"

การมาชุมนุมเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง ม็อบที่เป็นแฟลชม็อบ การมีผู้นำม็อบหน้าใหม่ หมายถึงจุดติด และเราจะได้เห็นคนหน้าใหม่ๆ มาร่วมแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น

ภาพที่จะสะท้อนออกมาในโซเชียลมีเดีย เราจะเห็นคนแสดงความเห็นขัดแย้งกันอย่างไร้เหตุผลน้อยลง ผลักไสในความต่างน้อยลง ฯลฯและถึงที่สุดจะกลายเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคนซึ่งถูกเรียกว่า “อิกนอร์แรนต์” จะได้คิดทบทวนและตัดสินใจในเรื่องการเมืองด้วยตัวเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง