ความจริง (ในการเมือง) บนโลกเสมือน ของคนยุค 90

การเมือง
10 ส.ค. 63
20:10
3,031
Logo Thai PBS
ความจริง (ในการเมือง) บนโลกเสมือน ของคนยุค 90

คนยุค 90 ที่เติบโตมาท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในสังคมไทย หากเกิดในปี 1995 ความจำของเด็กในวันนั้น แม้จะเลือนลางในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2551-2557 แต่หากพูดถึงกลุ่มคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง ก็อาจจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ผ่านจอโทรทัศน์ ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการปิดถนน การชุมนุมข้ามคืน จากวันนั้นถึงวันนี้ เด็กเหล่านั้นเติบโตมาสู่ช่วง 20 ปี พร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี​ การเคลื่อนไหว สื่อสารระหว่างกันจึงแตกต่าง

กระทั่งเหตุการณ์เดือน ก.พ.2563 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ในสายตาของนักศึกษาที่มองว่า “ไม่ยุติธรรม” สิ่งที่แสดงออกมาคือ การชุมนุมผ่านการชักชวนในโซเชียลมีเดีย

การชุมนุมที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ต้องหยุดกะทันหัน เพราะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 !

แต่ไฟที่จุดติดแล้วไม่ได้ดับลงไปด้วย โลกของคนรุ่นใหม่ใน “โซเชียลมีเดีย” ถูกกระพืออยู่ตลอดเวลา แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ตาม

ในทวิตเตอร์ (Twitter) ทุกข้อความคนอ่านแสดงความเห็นได้ มีพื้นที่ให้แสดงออก เห็นด้วย กดรี (Retweet) ชื่นชอบมากหรืออยากกลับมาอ่านอีกครั้ง กดเฟบ (Faverite) เห็นด้วยมาก และอยากสนับสนุน หรือเห็นต่างแล้วอยากแสดงทัศนะก็เมนชัน (Mention) ใต้เธรด (Thread)

วัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง ท่ามกลางการใช้ชื่อและภาพที่ไม่ระบุตัวตน กลายเป็นอิสระทางความคิดให้คนรุ่นใหม่


เมื่อต้องการพื้นที่เพื่อแสดงความเห็นและข้อเรียกร้อง ความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียที่ใช้อยู่ทุกวัน จึงที่สามารถใช้สื่อสารกันได้ทุกที่ทุกเวลา

โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือของโลกเสมือน ที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง ว่าจะดึงพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มารวมกันในความจริง ผ่านแฮชแท็กต่างๆ

ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน คือ 3 ข้อเรียกร้องหลักในการกลับมาชุมนุมช่วงสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

จากความกดดันในการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดหวังในการควบคุมโรคระบาด รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ทำให้ # แฮชแท็กต่างๆ ของกลุ่มเยาวชนเริ่มผุดขึ้นในทวิตเตอร์ และติดเทรนด์ทวิตเตอร์ยอดนิยมในประเทศไทยทุกสัปดาห์ และหลายแฮชแท็กก็หายไปเช่นกัน


การชุมนุมด้วยแฮชแท็ก #เราไม่ทนอีกต่อไป เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยการเฝ้าดูของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา ติดตั้งรั้วเหล็กกั้นรอบบริเวณ แต่เมื่อผ่านไปหนึ่งคืน กลับปรากฏภาพ เจ้าหน้าที่จัดสวนต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมติดป้ายกำลังปิดปรับปรุง

จากคลิปหรือภาพที่ปรากฏ จุดประกายให้ชาวทวิตเตอร์ชวนกันไป #ชมสวนใหม่ยาม 2 ทุ่ม วันที่ 21 ก.ค.2563

ส่งให้แฮชแท็ก #ไอเดียออกม็อบ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย โดยมีทวิตเตอร์หนึ่ง โพสต์คลิปวิดีโอคนญี่ปุ่นวิ่งวนเป็นวงกลมแล้วร้องเพลง “แฮมทาโร่” มีคนเข้าไปดูกว่า 2 แสนครั้ง มีคนรีทวีต 4 หมื่นครั้ง

ซึ่งการ์ตูน “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” เป็นภาพยนตร์อนิเมชัน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีโตเกียว ในปี 2543 และออกอากาศในประเทศไทย พร้อมกับเพลงภาษาไทย

20 ปีผ่านไป การ์ตูนแฮมทาโร่กลายเป็นตัวแทนกลุ่มคนยุค 90 รวมถึงคนรุ่นใกล้เคียง

ทั้งนักเรียน นักศึกษา นัดวิ่งไปรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และร้องเพลง ด้วยเนื้อหาคุ้นเคยแต่ดัดแปลง “เมล็ดทานตะวัน” เป็น “ภาษีประชาชน”

หลายคลิปที่ถูกนำเสนอบนโลกออนไลน์ กลายเป็นไวรัลและมีการทำกิจกรรมนี้อีกหลายครั้ง


#ไอเดียออกม็อบ ประสบความสำเร็จ​ในการใช้ป็อปคัลเจอร์มาดึงคนให้มีส่วนร่วม​และแสดงออกทางการเมือง ในช่วงที่สังคมไม่ได้ต้องการความรุนแรง ไอเดียอื่นๆ ทยอยตามมาเป็นกระแส จากโลกเสมือนลงมาบนท้องถนน​

#ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล เกิดขึ้นหลังเยาวชนมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมตะโกน บทภาพยนตร์หอแต๋วแตก หนังผีคอมเมดี ที่ดัดแปลงมาเช่นกัน

รวมถึงการนำตุ๊กตามาประกอบการแสดงเชิงสัญลักษณ์ นอกจากตะโกนเช่นนี้ ผู้จัดงานยังมีการปราศรัย เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ 

ความสำเร็จในการจัดการชุมนุมจาก #ไอเดียออกม็อบ ส่งผลให้เกิดการเสนอธีมต่างๆ เกิดขึ้น

แต่การแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ ก็ไม่ได้มีแต่กลุ่มสนับสนุนเท่านั้น กลุ่มค้านก็มี หรือแม้แต่กลุ่มที่สนับสนุนเอง ก็ยังมีมุมมองที่แตกต่าง เตือนสติ ให้แง่คิดกันเอง

บนโลกออนไลน์ หรือโลกเสมือนของคนรุ่นใหม่ การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ อาจเกิดขึ้นจริงหรือล่มลงได้ไม่ยาก

ความไม่ชัดเจนในการเชื่อมโยงการชุมนุม กับการ์ตูนที่นำมาเป็นธีม รวมถึงการทักท้วงให้เห็นความสำคัญของ “การเรียกร้องประชาธิปไตย” ซึ่งไม่ใช่พื้นที่สำหรับ “คนเฉพาะกลุ่ม” ที่ชอบบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน แต่ต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน

หลังเสียงทักท้วง ทำให้กลุ่มที่ออกไอเดีย #มีตไททันทวงคืนประชาธิปไตย ตัดสินใจยกเลิกการชุมนุม และเป็นช่วงเวลาในการกระตุกความคิดเยาวชนในสังคมออนไลน์ ให้กลับมาตระหนักถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการชุมนุม

เช่นเดียวกับป้ายข้อความเหยียดเพศ และการเผยแพร่ภาพบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่ชาวทวิตเตอร์เข้าไปท้วงติงว่า เรียกร้องประชาธิปไตย แต่กลับไม่เคารพสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ


อย่างไรก็ตาม แม้ธีมการชุมนุมจะเปลี่ยนไป แต่เป้าหมายในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิ เสรีภาพยังไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อมองตามวันเวลาที่เริ่มชุมนุมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน เมื่อต้นปี 2563

หากมองกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน การชุมนุมเวลานี้คง “ยกระดับการชุมนุม” ไปแล้วหลายครั้ง เปลี่ยนการชุมนุมไปแล้วหลายหน ด้วยรูปแบบเดิมๆ หรืออาจจะเรียกว่า "ม็อบออฟไลน์" ก็ว่าได้

แต่ด้วยวิธีคิด วิธีการ แนวทาง วันเวลา สิ่งที่เราได้เห็นจึงแตกต่าง เด็กรุ่นใหม่ชุมนุมด้วยกลยุทธ์ที่ไร้รูปแบบ ไม่มีแกนนำ ไม่มีสถานที่ ไม่รู้กำหนดการล่วงหน้า เพราะทั้งหมดคือ การเมืองในโลกเสมือน และไม่ได้หมายความว่า จะประสบความสำเร็จทุกครั้งไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง