จับตาปฏิรูปประเทศ เดิมพันกับความเชื่อมั่นของรัฐบาล

การเมือง
12 ส.ค. 63
19:34
170
Logo Thai PBS
จับตาปฏิรูปประเทศ เดิมพันกับความเชื่อมั่นของรัฐบาล

การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ชุดที่ 2 ต่อจากชุดแรกที่ตั้งแต่ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2560 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

นั่นหมายความว่า คณะกรรมการชุดใหม่ ที่ตั้งขึ้นมีเวลาเหลืออยู่อีกเพียงประมาณ 2 ปี ครบวาระวันที่ 14 ส.ค.2565

โดยการแต่งตั้งในครั้งนี้ มีการเพิ่มคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ อีก 2 ด้าน คือด้านปฏิรูปการศึกษา และด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทำให้มีทั้งหมด 13 ด้าน จากเดิมที่มี 11 ด้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นงานเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ และมีกำหนดไว้นโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศในชุดนี้ มีทั้งหมด 185 คน โดยกรรมการแต่ละด้านส่วนใหญ่ ได้รับแต่งตั้งต่อเนื่องจากชุดที่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีการแต่งตั้งเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหรือลาออก ซึ่งมีมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการไปรับตำแหน่งทางการเมือง, มีปัญหาสุขภาพ และผิดหวังจากงานปฏิรูปไม่ได้รับการขับเคลื่อน อย่าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

โจทย์ใหญ่ในครั้งนี้ คือ การปรับแผนปฏิรูปทุกด้าน เพื่อรองรับสถานการณ์ หลังการแพร่ระบาดของโควิด หรือ การมีวิถีชีวิตใหม่ (NEW NORMAL)

ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูป 13 ด้าน มอบ”การบ้าน” ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทุกด้านจัดทำและเสนอ Big Rock ที่เป็นแผนงานเร่งด่วน มายังรัฐบาล

 

นอกเหนือจากงาน “รูทีน” ที่จะต้องปรับแผนปฏิรูปประเทศ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งยังประสบปัญหา เนื่องจากงานแต่ละด้านยังไม่สัมฤทธิ์ผล ติดขัด งานที่ไม่เดิน จากการที่กรรมการในหลายคณะลาออกไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน ต้องส่งการบ้าน Big Rock ให้สภาพัฒน์ฯ ที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ภายในเดือนส.ค. เพื่อที่นำเข้าครม.และเสนอสภาฯ ก่อนเดือนต.ค.

ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำ Big Rock ที่มีความสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้น “ต่อยอด” จากกรอบและแผนที่กรรมการชุดเดิมเสนอมา

ยังมีการหยิบเรื่องอยู่ในความสนใจของสังคม และเรียกร้องให้มีการปฏิรูป อย่างด้านกระบวนการยุติธรรม ที่นำคดี “บอส อยู่วิทยา” มาถอดบทเรียนปัญหา อุปสรรค ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ไปจนถึง อัยการ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข

ทั้งการออกพ.ร.บ.ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า และการตรวจสอบความคืบหน้าของแต่ละคดี รวมไปถึงการเสนอให้มีหน่วยงานกลาง กำหนดมาตรฐานกลางในงานตรวจพิสูจน์ นิติเวชและพนักงานสอบสวน เพื่อให้สำนวนที่เป็นเอกภาพ เป็นสรุปเดียวกัน

 

แต่ถึงแม้ทิศทางปฏิรูปประเทศ ครั้งนี้จะไปได้ดี ขณะเดียวกัน ก็ยังกรรมการหลายคนอดเป็นห่วง และยอมรับว่า ไม่ค่อยมั่นใจกับการเดินหน้าตามแผนที่เสนอไปยังรัฐบาล

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ค่อยชัดเจนในการขับเคลื่อนแผนปฎิรูปประเทศ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน ได้สรุปจัดทำรายงาน หรือ Quick win ส่งให้รัฐบาลไปทั้งหมดแล้ว แต่สุดท้าย ก็ไม่ได้รับสัญญาณใดๆ

อย่าง พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกคณะกรรมการปฎิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ถึงกับออกปากว่า ในครั้งนี้ ผมเสนอในที่ประชุมเลยว่า ให้เสนอแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเข้าครม.เลย ไม่ต้องผ่านสภาพัฒน์ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที

หากเสนอตามขั้นตอนเดิม ก็จะถูกนำไป “ดอง” ไว้เหมือนก่อนหน้านี้ และยังได้คุยกับหลายคณะ เสนอให้ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ซึ่งวิธีนี้อาจารย์วิชา มหาคุณ เคยใช้เมื่อครั้งผลักดันการเสนอเรื่องไม่สำเร็จ

 

ดังนั้น คงต้องจับตาการเดินหน้าปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ของรัฐบาล ที่มีเดิมพันสูงทั้งปรับโครงสร้าง และมีเป้าหมายชัดเจน ในการรองรับวิถีชีวิตใหม่ (NEW NORMAL)ของคนไทย ถือเป็นงานที่ท้าท้ายในช่วง 2ปี ที่เหลือตามแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาล

ที่สำคัญ รัฐบาลต้องการลบข้อครหา ที่ทำให้เกิดความเปราะบาง จากการถูกโจมตี เรื่องแผนปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดขายของรัฐบาล ว่าเป็นการผูกขาดยาวนาน ถึง20 ปี

จะทำได้มาก แค่ไหน คงต้องรอดูกันต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง