ทีดีอาร์ไอประเมินสิ้นปี 63 คนไทยตกงานเกือบ 4 ล้านคน

เศรษฐกิจ
12 ส.ค. 63
19:35
9,157
Logo Thai PBS
ทีดีอาร์ไอประเมินสิ้นปี 63 คนไทยตกงานเกือบ 4 ล้านคน
แม้สถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้น แต่คนไทยมีแนวโน้มตกงานมากขึ้น เฉพาะปีนี้อาจจะมีไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านคน โรคระบาดและปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง แต่การปรับแก้กฏหมายให้สถานประกอบการปิดชั่วคราวได้จากเหตุสุดวิสัยก็ยิ่งทำให้แรงงานหลายคนไม่ได้กลับไปทำงาน

วันนี้ (12 ส.ค.2563) รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม 2563 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.21 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.33 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.92 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลงถึง 4.4 แสนคน

และคาดว่าในเดือน เม.ย. จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5-6 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 2 หากธุรกิจต้องปิดกิจการเพิ่ม โดยเฉพาะภาคบริการ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยประเมินว่าจำนวนแรงงานที่ตกงานปีนี้อาจพุ่งถึง 3-4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

 

รศ.ยงยุทธ ยังประเมินว่า แนวโน้มปัญหาการว่างงานจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 โดยคาดว่าจะมีแรงงานตกงานเฉลี่ยปีละ 3 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐใช้งบฟื้นฟูเศรษกิจ 4 แสนล้าน ช่วยเหลือผู้ว่างงานกลุ่มต่างๆ เช่น การจัดอบรมเพิ่มทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ หรือจัดอบรมเพิ่มความรู้ เพื่อรอกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ขณที่อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า การปรับแก้กฎหมาย เปิดทางให้สถานประกอบการปิดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัย และรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยร้อยละ 62 เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้แรงงานในระบบถูกเลิกจ้าง และไม่สามารถกลับเข้าไปได้ทุกคน เรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องหามาตรการรองรับคนกลุ่มนี้

แต่นักวิจัยฯ มองว่า รัฐบาลต้องเร่งสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบทั้งหมด เพราะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ มีสัดส่วนเกินครึ่งของจำนวนแรงงานทั้งหมด 37.5 ล้านคน

เสียงสะท้อนคนตกงาน-ว่างงาน

นายสมเกียรติ คงธารา อดีตพนักงานโรงงานเครื่องหนัง ย่านบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หลังบริษัทประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เขาต้องมาขายล็อตเตอรี่เลี้ยงครอบครัวแทน เพราะหางานใหม่ไม่ได้

บริษัทเลิกจ้างเพราะไม่มีออเดอร์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี COVID-19 แต่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วน น.ส.กัญญารัตน์ สมิตะมาน นักศึกษาจบใหม่ กล่าวว่า จบการศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 คณะบริหารจัดการ สาขาทรัพยากรมนุษย์ พยายามสมัครงานมาแล้วกว่า 2 ปี แต่ก็ยังไม่ได้งานทำ จึงต้องมาช่วยพ่อแม่ขายของและขายสินค้าออนไลน์ชั่วคราว

ในปีการศึกษาหนึ่ง มีเด็กจบใหม่เป็นแสนคน ซึ่งเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ทำให้ต้องแย่งงานกัน รวมถึงประสบการณ์ทำงานและความอดทน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง