"รุ้ง" แกนนำนักศึกษาวอนจับตาห่วงคุกคาม

การเมือง
13 ส.ค. 63
09:03
3,582
Logo Thai PBS
"รุ้ง" แกนนำนักศึกษาวอนจับตาห่วงคุกคาม
แกนนำนักศึกษาการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุยังปลอดภัยดีมาเรียนหนังสือ แต่ขอให้ช่วยจับตา ห่วงถูกคุกคาม ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรียกร้อง 3 ข้อมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ในการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกอย่างสันติ

วันนี้ (13 ส.ค.2563) กรณีมีการจัดการชุมนุมภายใต้ชื่อ "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา และมีกระแสข่าวว่าตำรวจจะเข้าจับแกนนำนักศึกษาที่ขึ้นปราศรัย หลังจากก่อนหน้านี้แกนนำหลายคนถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่ถึงที่พักตั้งแต่คืนวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาหลังขึ้นปราศรัย

น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำนักศึกษาที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีม็อบธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ระบุว่าตอนนี้รุ้งยังปลอดภัยดีนะคะทุกคน ขอบคุณทุกคนมากๆที่ช่วยกันติดตามสถานการณ์ ตอนนี้เรามาเรียนที่มอตามปกติค่ะ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ยังน่ากังวลมาก คงต้องรบกวนทุกคนให้ช่วยกันติดตามสถานการณ์ต่อ  เพราะเขาคงไม่ปล่อยเราไว้นานแน่

ตัวรุ้งเองสภาพจิตใจตอนนี้ดีมากค่ะไม่ต้องห่วง เพราะยิ่งเขากดเรามากเท่าไหร่ ยิ่งเขากระทำกับเรามากเท่าไหร่ มันยิ่งตอกย้ำว่า เราต้องสู้กับใคร เพราะอะไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ขณะที่ทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน @TLHR2014 ระบุว่าค่ำคืน 12 ส.ค.มีกระแสข่าวการเตรียมจับกุมแกนนำนักศึกษาจากกลุ่ม#ประชาชนปลดแอก ออกมาเป็นระยะ และเพวนกวิน-ปนัสยา โพสต์ FB ระบุ มีกลุ่ม จนท.จับตาอยู่ใกล้ที่พัก 5.45 น.วันนี้ (13 ส.ค) พบการเตรียมกำลังตำรวจที่หน้า สภ.คลองหลวงเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 นาย #SavePanusaya #หยุดคุกคามประชาชน

 

คนส.เรียกร้อง 3 ข้อมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ล่าสุด เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. ยังออกแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรื่องมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม

เนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ เพียงฝึกคนให้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพ ไม่ได้เป็นโรงงานผลิตแรงงานตามความต้องการของตลาด และไม่ได้เป็นหน่วยงานหล่อหลอมเจ้าหน้าที่ตามการบงการของรัฐ หากแต่เป็นแหล่งบ่มเพาะสมาชิกที่มีคุณภาพให้กับสังคม ซึ่งไม่ได้หมายถึงทักษะในการท่องจำสิ่งที่สืบทอดกันมาในตำรา แต่หมายถึงความสามารถในการคิด ตั้งคำ ถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ เพราะสังคมจะไม่สามารถเผชิญวิกฤติ ความเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายใหม่ๆ ได้ หากสมาชิกปราศจากคุณสมบัติเหล่านี้ จะมีก็แต่ผู้ที่ต้องการแช่แข็งสังคมหรือฝืนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่ไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่เช่นนี้

 

สังคมไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ บทบาทของมหาวิทยาลัยในการบ่มเพาะสมาชิกที่มีความสามารถในการคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์จึงยิ่งทวีความสำคัญตามไปด้วย นอกจากนี้ บทบาทดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตนักศึกษาในสถาบัน หากแต่หมายรวมถึงการเป็นพื้นที่ให้สมาชิกกลุ่มอื่นในสังคมได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนข้อเท็จจริง

ด้วยเหตุด้วยผล โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์เช่นนี้ ไม่มีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่ามหาวิทยาลัยสำหรับการให้สมาชิกในสังคมได้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบร่วมกันอย่างสันติ

ข้อเรียกร้องของการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการหยุดคุกคามประชาชน การยุบสภา หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการตั้งคำถามและพยายามพาสังคมไทยไปให้พ้นจากวิกฤติทางการเมืองที่สั่งสมมากว่าทศวรรษ เช่นเดียวกับข้อเสนอ 10 ข้อของ “แนวร่วมธรรม ศาสตร์และการชุมนุม” ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่นับเป็นการตั้งคำถามและพยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทยอย่างสันติเช่นเดียวกัน

อ่านข่าวเพิ่ม มธ.ออกแถลงการณ์ปมชุมนุมนอกกรอบ

วอนอย่าปิดกั้น-ห้ามการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย

ฉะนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการปราศรัยเกินกว่าที่แจ้งไว้ ด่วนตัดสินเอาเองว่าการปราศรัยไม่เหมาะสมขัดศีลธรรม หรือจะไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยา ลัยต่อไป หากแต่ควรคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้เป็นหลัก เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พร้อมผู้มีรายชื่อแนบท้าย จึงเรียกร้องไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ในสังคมและรัฐดังนี้

1.ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องอนุญาตให้นิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ไม่หวาดกลัวต่ออำนาจอธรรม ความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด รวมทั้งต้องไม่ถือว่าการจัดกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวเป็นความผิด เพราะการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมในการตั้งคำถามและเสนอทางออกให้กับสังคมนอกจากจะเป็นบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ยังเป็นการป้องกันนิสิตนักศึกษาจากความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากผลักไสให้พวกเขาไปจัดกิจกรรมด้านนอก

2.ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมพึงพิจารณาข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาอย่างมีสติ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง พร้อมกับแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ มิใช่ปฏิเสธที่จะรับฟังด้วยอคติ ใส่ร้ายป้ายสีหรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับนิสิตนักศึกษาและประชาชน

3. รัฐต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสันติของประชาชนที่ได้รับการรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ต้องไม่ขัดขวางการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสถานศึกษา ต้องบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติและแสดงความเห็นโดยสุจริต รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม และป้องกันไม่ให้มีการประทุษร้ายนิสิตนักศึกษาเพียงเพราะพวกเขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในครรลองระบอบประชาธิปไตย

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นายกรัฐมนตรี" กังวลใจม็อบธรรมศาสตร์"

"ปริญญา" ย้ำให้เสรีภาพการแสดงออก แต่ต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมาย

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง