เคยเห็นไหม? ฟ้าแลบ-ลูกเห็บแอมโมเนีย "บนดาวพฤหัสบดี"

Logo Thai PBS
เคยเห็นไหม? ฟ้าแลบ-ลูกเห็บแอมโมเนีย "บนดาวพฤหัสบดี"
สดร.เผยภาพหาดูยากปรากฏการณ์ ฟ้าแลบ และลูกเห็บแอมโมเนีย บนดาวพฤหัสบดี ที่เก็บข้อมูลจากยานอวกาศจูโน ของนาซา พบว่าการปรากฏการณ์ "Shallow Lightning" เกิดจากการคายประจุไฟฟ้าของก้อนเมฆ ที่ประกอบไปด้วยสารละลายแอมโมเนีย

วันนี้ (14 ส.ค.2563) นายธนกฤต สันติคุณาภรต์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ข้อความผ่ายทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ว่าปรากฏการณ์ #ฟ้าแลบ และ #ลูกเห็บแอมโมเนีย บนดาวพฤหัสบดี ข้อมูลล่าสุดจากยานอวกาศจูโนของนาซา พบว่าการเกิดปรากฏการณ์ฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดีที่เรียกว่า "Shallow Lightning" เกิดจากการคายประจุไฟฟ้าของก้อนเมฆ ที่ประกอบไปด้วยสารละลายแอมโมเนีย ต่างกับก้อนเมฆในชั้นบรรยากาศโลกที่มีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำ

พายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงนี้ จะพัดพาผลึกน้ำแข็งจากเมฆชั้นล่าง ที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักขึ้นไปยังชั้นเมฆแอมโมเนีย จากนั้นผลึกน้ำแข็งจะละลายและรวมตัวกับแอมโมเนีย เกิดเป็นหยดสารละลายแอม โมเนีย แล้วตกลงไปชนกับผลึกน้ำแข็งส่วนที่ถูกพัดจากขึ้นมาจากเมฆชั้นล่างของน้ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ก้อนเมฆในชั้นนี้เกิดประจุไฟฟ้า และมีการคายประจุไฟฟ้าออกมาเกิดเป็นปรากฏการณ์ฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดีนั่นเอง

นอกจากนี้ ข้อมูลจากยานอวกาศจูโน ยังชี้ให้เห็นว่าพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงบนดาวพฤหัสบดีอาจก่อให้เกิดพายุลูกเห็บแอมโมเนีย ที่เรียกว่า “Mushballs” ซึ่งตามทฤษฎีแล้วมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากสารละลายแอมโมเนียในบรรยากาศชั้นบนที่มีอุณหภูมิเย็นยิ่งยวด ชนเข้ากับอนุภาคหรือผลึกน้ำแข็งขนาดเล็ก เกิดเป็นลูกเห็บแอมโมเนียขนาดเล็ก

ลูกเห็บดังกล่าวอาจถูกกระแสลมพัดพาให้เคลื่อนที่อยู่ในเมฆ และกระทบกับสารละลายแอมโมเนียเย็นยิ่งยวดเพิ่มเติม ซึ่งจะกลายเป็นชั้นน้ำแข็งพอกผิวให้ลูกเห็บมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อลูกเห็บมีขนาดใหญ่มากจนกระทั่งกระแสลมในเมฆพยุงไว้ไม่อยู่ ก็จะตกลงลงสู่ชั้นบรรยากาศที่ลึกลงไปในดาวพฤหัสบดีต่อไป

ข้อมูลที่เก็บได้จากอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีไมโครเวฟ ของยานอวกาศจูโน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าปริมาณแอมโมเนียในบรรยากาศชั้นบนของดาวพฤหัสบดีค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฟ้าแลบและการเกิดลูกเห็บแอมโมเนีย จะเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการลดลงของระดับแอมโมเนียในบรรยากาศชั้นดาวพฤหัสบดีได้ในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.missionjuno.swri.edu/…/shallow-lighting-and-mus…

วิดีโอ : https://youtu.be/tq_6DClZ0Ns

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง