"จีดีพีไทย" ติดลบหนัก - "หนี้ครัวเรือน" พุ่งสูงรอบ 4 ปี

เศรษฐกิจ
17 ส.ค. 63
10:23
1,085
Logo Thai PBS
 "จีดีพีไทย" ติดลบหนัก - "หนี้ครัวเรือน" พุ่งสูงรอบ 4 ปี
กระทรวงการคลัง เตรียมปลดล็อกซอฟต์โลน ช่วยธุรกิจและแรงงาน หลังสถานการณ์โควิด-19 ทำคนตกงานเพิ่มขึ้น และหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงสุดในรอบ 4 ปี กระทบจีดีพีไตรมาส 2 ของปีนี้ติดลบร้อยละ 12.2 พร้อมปรับลดประมาณการณ์ทั้งปี ติดลบร้อยละ 7.8-7.3

วันนี้ (17 ส.ค.2563) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไทย ไตรมาส 2 ของปี 2563 ติดลบร้อยละ 12.2 พร้อมปรับประมาณการณ์จีดีพีทั้งปี จากเดิมติดลบ ร้อยละ 5-6 เป็นติดลบ ร้อยละ 7.8-7.3 ภายใต้สมมติฐานที่ไทยไม่เกิดการระบาดรอบ 2 ยังคงจำกัดการเดินทางนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงสิ้นปี 2563 ขณะเดียวกัน ผลกระทบภาคการผลิตไม่ลุกลามกลาย​เป็นวิกฤตสถาบันการเงิน จากหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไม่ขยายวงกว้างมากนัก

ชง "ธปท.-คลัง" ใช้ยาแรงกระตุ้นท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ต้องประสานนโยบายอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยจำเป็นต้องออกมาตรการบรรเทาผลกระทบธุรกิจ และแรงงานเพิ่มเติม รวมทั้งกระตุ้นการรณรงค์ไทยเที่ยวไทยมากขึ้น หลังมาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" มีอัตราการพักค้างคืนต่ำกว่าเป้าหมาย และกระจุกตัวในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ และเดินทางวันหยุด จึงจำเป็นต้องสนับสนุนการเดินทางระยะไกลในวันธรรมดาเพิ่มเติม พร้อมจับตาปัญหาเสถียรภาพการเมือง อาจเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

 

การจ้างงาน "ภาคการผลิต-เกษตร" ลดลง

นอกจากนี้ สศช.ยังรายงานภาวะสังคม ประจำไตรมาส 1 ของปี 2563 พบว่าการจ้างงานลดลงทั้งภาคการผลิตและเกษตร ร้อยละ 1.9 ยกเว้นภาคการขนส่งและเก็บสินค้า โดยสถานการณ์ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.95 หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงปกติ และอัตราว่างงานสูงสุด ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์ปิดกิจการ โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งแรงงานถูกเลิกจ้างมากที่สุด ร้อยละ18.3 รองลงมา คือสาขาค้าปลีกค้าส่ง ร้อยละ14.6

ประเมินปีนี้อาจมีคนตกงานกว่า 2 ล้านคน

ทั้งนี้ ผู้ตกงานส่วนใหญ่ อายุมากกว่า 40 ปี มีทักษะต่ำ พร้อมประเมินว่าทั้งปีอาจมีผู้ตกงานประมาณ 2 ล้านคน ไม่รวมกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ยังส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 คิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ร้อยละ 80.1 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

 

 

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงมาตรการบรรเทาผลกระทบธุรกิจและแรงงานเพิ่มเติม ซึ่งอาจคลายล็อกมาตรการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน วันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง