คลังเตรียมวงเงินสินเชื่อ 1.1 แสนล้านบาท ดูแล SMEs เพิ่ม

เศรษฐกิจ
18 ส.ค. 63
17:09
943
Logo Thai PBS
คลังเตรียมวงเงินสินเชื่อ 1.1 แสนล้านบาท ดูแล SMEs เพิ่ม
กระทรวงการคลังเตรียมวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน วงเงินรวมกว่า 1.14 แสนล้านบาท

วันนี้ ( 18 ส.ค.63) นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้ขยายตัวเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) รวมไปถึงประชาชนทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำ ขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลิกจ้างและปิดกิจการ

แม้ว่ารัฐบาลได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี และเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่ม SMEs ทั่วไป 2) กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว และ 3) กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1) กลุ่ม SMEs ทั่วไป

1.1) สินเชื่อ Soft loan ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงจำนวน 3,000 ล้านบาท

1.2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย. จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan

1.3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

 

2) กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว

2.1) สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

2.2) สินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี

 

3) กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน

3.1) สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

3.2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 - 2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันถึง 30 ธันวาคม 2563

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดูแล SMEs เพิ่มเติม จะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และจะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง